งานวิจัยเรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์การสวดพระปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทย” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของการสวดพระปาฏิโมกข์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิธีการสวดพระปาฏิโมกข์ของคณะสงฆ์ไทย และ ๓) เพื่อศึกษาการสวดพระปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์แบบล้านนา
ผลการวิจัยพบว่า การสวดพระปาฏิโมกข์เป็นพุทธบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์ขึ้นทุกวัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ เป็นการอนุเคราะห์ให้พระสงฆ์ทบทวนพระธรรมพระวินัยที่ได้ประพฤติปฏิบัติมา โดยมีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สวด พระภิกษุที่เหลือเป็นผู้ฟัง นอกจากนี้ การสวดพระปาฏิโมกข์ยังเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม เช่น บุพกรณ์ มีการปัดกวาดสถานที่ เตรียมน้ำฉันเป็นต้น การสวดพระปาฏิโมกข์ยังเป็นสังฆกรรมหนึ่งในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า ญัตติกรรม ซึ่งทำโดยพระภิกษุ ๔ รูปขึ้นไปตามความเหมาะสม มีทั้งการสวดโดยพิสดารและการสวดโดยย่อ
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาทรงสร้างอุโบสถและปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ทำสังฆกรรมปาฏิโมกข์ ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนับสนุนส่งเสริมโดยมีพระราชโองการให้สืบดูว่า วัดไหนมีการทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์เสมอทุกวันอุโบสถ จะทรงพระราชอุทิศกระจาดพระปาฏิโมกข์
ประเด็นเกี่ยวกับการสวดปาฏิโมกข์แบบล้านนามีลักษณะพิเศษกว่าคณะสงฆ์ในภาคอื่นของประเทศไทย คือ มีการนัดพบของกลุ่มพระภิกษุในหัวอุโบสถ ที่วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อรวมกลุ่มกันทำสามัคคีอุโบสถปาฏิโมกข์ เพื่อให้เกิดความสามัคคีของกลุ่มสงฆ์ในล้านนา และการทำ สังฆกรรมของล้านนาต้องครบองค์ ๕ อย่าง คือ ๑) ตนราธนาหื้อว่าถูกแม่นแท้ ( มีผู้เชื้อเชิญ ) ๒) ตนแสดงว่าบ่หื้อผิดสักตัวแท้ (ผู้สวดต้องออกเสียและจำเนื้อหาของบทธรรมได้อย่างถูกต้อง ) ๓) จดหัตถบาสก็หื้อถูกองค์ดีแท้ ( พระภิกษุสงฆ์ในขณะนั่งฟังพระสวดปาฏิโมกข์ ต้องนั่ง หัตถบาส ) ๔) ก็เป็นสีมาแท้ (เ ขตแดนที่ประกาศพระบรมราชโองการให้เป็นของสงฆ์ ) ๕) บ่เป็นวรรคเสียแท้ ( การทำสังฆกรรมพระปาฏิโมกข์ต้องครบองค์สงฆ์ ) ถ้าครบองค์ ๕ สังฆกรรมแบบล้านนาจึงจะบริสุทธิ์
Download |