หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายจิร รัดไสย์
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์อุปาทานในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีผลกระทบต่อสังคมพุทธไทย (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายจิร รัดไสย์ ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร.
  ดร.ประยูร แสงใส
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาระสำคัญของอุปาทานในพระพุทธศาสนาเถรวาท  เพื่อศึกษาโทษและผลกระทบของอุปาทานที่มีต่อสังคมชาวพุทธ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์อุบายวิธีเพื่อละอุปาทาน

                      ผลการวิจัยพบว่า  อุปาทานในพระพุทธศาสนาหมายถึง   การยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ด้วยอำนาจกิเลส   อารมณ์ทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งสำหรับยึดมั่นของอุปาทาน  คือขันธ์ ๕  เรียกว่า   อุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท คือ ๑.กามุปาทาน   คือ  ความยึดมั่นในกาม คือ  รูป  เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ๒. ทิฏฐุปาทาน   คือ   ความยึดมั่นในทิฏฐิ  ความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ๓. สีลัพพตุปาทาน    คือ    ความยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติหรือ     ศีลพรต    ข้อประพฤติหรือพิธีกรรมต่างๆ ที่งมงาย ๔. อัตตวาทุปาทาน    คือ  ความยึดมั่นว่าเป็นตัวตน ว่ามีอยู่จริง  เที่ยงแท้ หรือ   จักขาดสูญ

 

 

                      อุปาทานมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักคำสอนอื่นๆ ที่สำคัญในพระพุทธศาสนาในฐานะที่ต้องเป็นไปตามกฎสัจธรรม เช่น สัมพันธ์กับ หลักปฏิจจสมุปบาท  ในฐานะที่ต้องเป็นไปตามกฎของเหตุปัจจัย  เป็นเหตุและผลต่อกัน   อาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไป    สัมพันธ์กับกฎไตรลักษณ์   ในฐานะที่ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เพราะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา   สัมพันธ์กับหลักอริสัจ ๔  ในฐานะที่เป็นสมุทัยให้ทุกข์ทั้งปวงเกิด  สัมพันธ์กับหลักขันธ์ ๕    ในฐานะที่เป็นที่ยึดมั่นของอุปาทานทำให้เข้าใจผิดยึดมั่นว่าขันธ์ทั้ง ๕  เป็นของเที่ยง   เป็นสุข   เป็นสัตว์  บุคคล   ตัวตน 

 

 

                      ในทัศนะของปราชญ์พุทธ อุปาทานก่อให้เกิดโทษทั้งในปัจจุบันและในอนาคตแก่บุคคลผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น  และมีผล กระทบต่อสังคมพุทธในหลายด้าน เช่น ผลกระทบด้านความเชื่อ ผลกระทบด้านการศึกษา ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเมือง ผลกระทบด้านวิถีชีวิตและระบบนิเวศ  ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคม

 

                 อุบายวิธีในการเรียนรู้เพื่อละอุปาทาน  ต้องเจริญตามอริยมรรคมีองค์ ๘ และ สติปัฏฐาน  ๔ การเจริญขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ ประการคือ   ๑.ปรโตโฆสะ  ๒.โยนิโสมนสิการ  เมื่อบุคคลได้ศึกษาพิจารณาด้วยปัญญาและเข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมละคลายจากอุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่น  ที่เป็นต้นเหตุของโทษทุกข์ทั้งปวงได้ความทุกข์และปัญหาต่างๆก็ลดลงตามลำดับจนสามารถละอุปาทานได้ในที่สุดจนกระทั่งบรรลุนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕