วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษารูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชนบ้านหนองลูกช้าง ๒) เพื่อศึกษาการนำหลักสังคหวัตถุ ๔ ไปใช้ในการจัดสวัสดิการชุมชนบ้านหนองลูกช้าง ๓) เพื่อศึกษาผลของการประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ ของกลุ่มสวัสดิการชุมชนบ้านหนองลูกช้าง ผลการศึกษาพบว่า
รูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชนบ้านหนองลูกช้าง ได้ดำเนินกิจกรรมจำนวน ๓ กิจกรรม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตหนองลูกช้าง ได้ดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ กลุ่มมีการรับฝากเงินอยู่ ๒ ประเภท คือ เงินฝากสะสมทรัพย์ สมาชิกฝากเงินโดยการฝากเป็นหุ้น ๆ ละ ๒๐ บาท ปัจจุบันมีทุนหมุนเวียน ๒,๑๙๔,๓๗๐ บาท มีสมาชิก ๔๒๑ คน และเงินฝากสะสมพิเศษ เงินประเภทนี้สมาชิกจะฝากสะสมและถอนได้ แต่ไม่สามารถกู้ยืมได้ ปัจจุบันมีเงินสะสมจำนวน ๓๙๐,๕๔๒ บาท วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้ชาวบ้านรู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงิน และเป็นทุนประกอบอาชีพให้กับสมาชิก สิ้นปีกลุ่มจะมีการปันผลคืนให้กับสมาชิกตามจำนวนหุ้นที่สมาชิกฝากสะสม
- กลุ่มสัจจะวันละ ๑ บาท กลุ่มได้เริ่มจัดตั้งมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ชาวบ้านที่ต้องการเป็นสมาชิกกลุ่ม ต้องเสียค่าสมัครคนละ ๒๐ บาท และต้องฝากเงินสะสมไว้ที่กลุ่มอย่างน้อยคนละ ๓๖๕ บาทต่อปี ปัจจุบันมีทุนสะสม ๒๙๒,๙๘๙ บาท มีสมาชิก ๒๐๙ คน วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เพื่อเป็นการระดมทุนให้สมาชิกได้ช่วยเหลือกันและเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตาย พอสิ้นปีกลุ่มจะมีการปันผลคืนให้กับสมาชิกตามจำนวนหุ้นที่สมาชิกฝากสะสม
- กองทุนหมู่บ้านหนองลูกช้าง ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดชัยภูมิ ให้ได้รับเงินกองทุนหมู่บ้านละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทในปี พ.ศ.๒๕๔๔ และในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท กลุ่มได้เริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกโดยเสียค่าธรรมแรกเข้าเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม จำนวน ๑,๐๐๐ บาท และสมาชิกต้องมีหุ้นฝากสะสมอย่างน้อย ๑ หุ้น ๒๐ บาท ต่อเดือน กลุ่มจะมีข้อจำกัดผู้ที่จะเป็นสมาชิกได้ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหนองลูกช้างไม่น้อยกว่า ๒ ปี ปัจจุบันมีสมาชิก ๑๒๙ คน มีทุนสะสมจำนวน ๑,๒๖๖,๘๖๐ บาท
การนำหลักสังคหวัถุ ๔ ในการจัดสวัสดิการชุมชนบ้าหนองลูกช้าง จากการศึกษาในเชิงเอกสารและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาพบว่า ธรรมะที่เรียกว่าสังคหวัตถุ ๔ นั้น เป็นธรรมที่แสดงให้เห็นถึงหลักการสงเคราะห์ช่วยเหลือกันให้บรรลุความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย ๑.ทาน การให้ ๒.ปิยวาจา การพูดจาไพเราะ ๓.อัตตถจริยา การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ และ ๔.สมานัตตตา ความสม่ำเสมอ
ผลการประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ ของการจัดสวัสดิการชุมชนหนองลูกช้าง
ได้นำมาใช้ครบทั้ง ๔ องค์ประกอบ ในเรื่องของการให้ (ทาน) เป็นวัตถุคือเงินที่นำมาร่วมกันลงทุนในการจัดตั้งกลุ่ม การใช้คำพูดที่ไพเราะมีประโยชน์ (ปิยวาจา) การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ (อัตถจริยา) และความสม่ำเสมอ (สมานัตตตา) ซึ่งผลการประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ ทำให้การจัดสวัสดิการชุมชนหนองลูกช้าง ช่วยเหลือชาวบ้านในการหาเลี้ยงชีพได้ ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ทำให้มีทุนทรัพย์ในการเลี้ยงชีพ และมีเงินออมทรัพย์สะสม การจัดสวัสดิการชุมชนจึงเป็นการสร้างหลักประกันชีวิตที่ดีให้กับชาวบ้าน ถือเป็นภูมิปัญญาที่ทุกคนได้ร่วมกันดำเนินการจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
Download |