หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายศิลา ผรณาปิติ
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์อารัญญิกธุดงค์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท : ศึกษาเฉพาะกรณีพระเรวตเถระ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายศิลา ผรณาปิติ ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ), ผศ.ดร.
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง)
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิเคราะห์อารัญญิกธุดงค์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท : ศึกษาเฉพาะกรณีพระเรวตเถระนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาอารัญญิกธุดงค์ในพระพุทธศาสนา เถรวาท (๒) เพื่อศึกษาชีวประวัติของพระเรวตเถระ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์อารัญญิกธุดงค์ของพระเรวตเถระที่มีอิทธิพลต่อพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน

ผลการวิจัย พบว่า อารัญญิกธุดงค์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลสของผู้ถือการอยู่ป่าเป็นกิจวัตร จัดอยู่ในทุกกลุ่มของธุดงค์ ๑๓ มี ๖ กลุ่ม คือ                   (๑) โดยหมวด  (๒)โดยปัจจัย  (๓)โดยย่อ  (๔) โดยผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาธุดงค์  (๕)โดยบุคคลและ     (๖)โดยข้อปฏิบัติ  มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ธรรมเป็นอุปการะแก่ผู้ปฏิบัติอารัญญิกธุดงค์  มีความสำคัญ คืออพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตพระภิกษุให้อยู่ป่าเพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตจนบรรลุมรรคผลนิพพาน  มีวิธีการปฏิบัติ คือ พิจารณาว่า บริเวณไหนเป็นเขตป่าหรือวัด ป่าที่ไกลจากบ้านหลังสุดท้ายประมาณ ๕๐๐  ชั่วคันธนูหรือ  ๑ กิโลเมตร ถ้ามีภูเขาหรือแม่น้ำกั้น ให้วัดตามระยะทางเดินปกติ และออกมารับอรุณในป่า  ในอารัญญิกังคธุดงค์ มี ๓ ระดับแห่งการปฏิบัติ คือ  เคร่งครัด  ปานกลางและ ผ่อนปรน  อานิสงส์มี ๗ ประการ คือ  ๑) สมาธิตั้งมั่น  ๒) มีปัจจัยดำรงชีวิต  ๓) อันตรายไม่มารบกวนจิต   ๔) ไม่สะดุ้งกลัว  ๕) ละความเยื่อใยในชีวิต  ๖) ได้รับความสุขจากวิเวก             ๗) สามารถรักษาธุดงค์ในข้ออื่นๆได้  อารัญญิกธุดงค์ในพุทธศาสนาเถรวาทมี ๓ ประเด็นคือ  (๑) ตามแนวพระไตรปิฎกปิฎก (๒) ตามแนววิมุตติมรรค  (๓) ตามแนววิสุทธิมรรค  

 

พระเรวตเถระเป็นผู้ถืออารัญญิกธุดงค์ ได้รับกยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะทางการอยู่ป่าเป็นวัตร เนื่องจากท่านเป็นพระสาวกถือการปฏิบัติด้านนี้เป็นพิเศษ  จนเป็นผู้เลิศในด้านการอยู่ป่า จีงได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ อยู่ในกลุ่มพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ รูป และท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในกลุ่มพระอสีติมหาสาวก คือ พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป เพราะท่านเข้ามาบวชในช่วงปฐมโพธิกาลและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

 

บทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเรวตะในครั้งพุทธกาล  มี ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านสิ่งแวดล้อม  (๒ ) ด้านมนุษย์  (๓) ด้านสังคม  (๔ ) ด้านวิธีการเผยแผ่ โดยใช้ป่าเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้  อารัญญิกธุดงค์ของพระเรวตะเถระที่เป็นแนวทางต่อพระภิกษุไทยในปัจจุบัน ๗ ประเด็นคือ  (๑) เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ  (๒) เพื่อทำให้สติได้ปรากฏชัด จิตได้ตั้งมั่น อาสวะสิ้นไป และทำให้บรรลุธรรมอันยอดเยี่ยม  () พระภิกษุอยู่ป่าของไทยเริ่มปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  (๔) ลักษณะทางภูมิประเทศ สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องการอยู่ป่า  (๕)  ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ นำไปสู่การบัญญัติให้พระภิกษุผู้อยู่ป่าว่า เป็นภิกษุฝ่ายอารัญญวาสี  (๖) ลักษณะทางสังคมปัจจุบัน ถูกจำกัดด้วยกฎหมายป่าสงวน จึงหันมาปลูกป่าในอารามแทน  (๗) ลักษณะทางคำสอนเรื่องการอยู่ป่า เป็นแบบอย่างการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้เข้ากับสถาณการณ์ปัจจุบัน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕