ความอ้วนในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นปัญหาที่มีผลกระทบทางตรงในเรื่องภาวะของสุขภาพ ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ร่างกายเป็นโรคอื่นๆ ตามมา และมีผลกระทบทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและงบประมาณของประเทศ อันเกิดขึ้นจากสาเหตุใน ๔ สาเหตุหลักคือ ๑) สาเหตุของความอ้วนที่เกิดจากจิตใจ เป็นภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมความอยากอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมากจนเกิดความจำเป็น ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจคือ ไม่มีความเชื่อมั่น ขาดความเคารพในตนเอง เป็นต้น ๒) สาเหตุของความอ้วนที่เกิดจากร่างกาย เป็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายในด้านต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านบุคลิกภาพ ๓) สาเหตุของความอ้วนที่เกิดจากทางพฤติกรรม ซึ่งเกิดจากรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันเช่น พฤติกรรมในการบริโภค ด้านโภชนาการ การขาดการออกกำลังกาย ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ๔) สาเหตุของความอ้วนที่เกิดจากสังคม ที่ดำเนินไปตามกระแสวัฒนธรรมการบริโภคแบบตะวันตก และจากกลุ่มบุคคลผู้แสวงหาความมั่งคั่งของตน โดยไม่สนใจผลกระทบต่อคนในสังคม และวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในการลดความอ้วน คือวิธีการป้องกันนั่นเอง
ความอ้วนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เกิดขึ้นจาก ๒ สาเหตุคือ ๑) จากโรคทางกาย ซึ่งเกิดจากการกระทำเช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การไม่รู้ประมาณในการบริโภค หรือ จากผลของกรรม เป็นต้น ๒) จากโรคทางใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากกิเลส ตัณหา ที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่น เมื่อไม่ว่าจะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือความอยากขึ้นในจิตใจผู้ใด ถ้าไม่รู้เท่าทันกิเลส ไม่ใช้สติควบคุมอารมณ์ กิเลส ตัณหาเหล่านี้ จะทำให้ขาดสติ ขาดการพิจารณาอาหารก่อนรับประทาน จึงส่งผลทำให้รับประทานอาหารในปริมาณมาก แต่สามารถแก้ไขสาเหตุนี้ได้ โดยนำหลักพุทธธรรมมาใช้ป้องกันและรักษาอาการดังกล่าว
แนวทางในการประยุกต์หลักพุทธธรรมสำหรับแก้ไขปัญหาความอ้วนในสังคมไทยปัจจุบัน ควรเริ่มต้นจากการศึกษา นำความรู้ที่ถูกต้องมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความอ้วนในตนเองก่อน และปรับแนวคิดของตน เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตสู่คนในสังคม ซึ่งหลักพุทธธรรมที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาความอ้วน ด้านจิตใจ คือ ๑) อิทธิบาท ๔ เป็นคุณธรรมของความสำเร็จ เป็นการตั้งมั่นของจิตใจ ที่ทำด้วยความพากเพียรจนเป็นผลสำเร็จ ๒) อธิษฐาน เป็นความตั้งใจมั่น วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่ ด้านร่างกายคือ กฎแห่งกรรม เป็นการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ๓) สติปัฏฐาน ๔ เป็นการฝึกให้เกิดสติ สัมปชัญญะ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้านพฤติกรรมคือ ๑) โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้ประมาณในการบริโภค เพื่อให้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของอาหารนั้นๆ ก่อนรับประทาน ๒) อาหาเรปฏิกูลสัญญา เป็นการกำหนดความเป็นปฏิกูลในอาหาร และด้านสังคมคือ กัลยาณมิตร การมีผู้แนะนำสั่งสอน คบหาคนที่เป็นแหล่งแห่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี เพื่อชี้แนะการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ เช่น การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับสมดุลทางอารมณ์ และนำมาปฏิบัติต่อบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม โดยมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในสังคมอย่างจริงจัง และให้สังคมได้ตระหนักรู้และย้ำเตือนว่า อะไรควรเป็นสิ่งที่ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความอ้วนในปัจจุบันอย่างยั่งยืนแท้จริง
Download |