หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวน้ำทิพย์ พรพัฒนานิคม
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๓ ครั้ง
การศึกษาหลักสารณียธรรมเพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ของนักเรียนโรงเรียนราชวินิต มัธยม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวน้ำทิพย์ พรพัฒนานิคม ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร, ดร.
  ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  ดร.ศศิวรรณ กำลังสินเสริม
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาหลักสารณียธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ๓) เพื่อศึกษาการใช้หลัก    สารณียธรรมเพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ของนักเรียนโรงเรียนราชวินิต มัธยม

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างซึ่งประกอบด้วยครู จำนวน ๗ ท่าน นักเรียน จำนวน ๒๘ คน นักวิชาการ จำนวน ๒ ท่าน รวมกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น ๓๗ คน ผลการวิจัยพบว่า หลักสารณียธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก  ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน โดยมีองค์ธรรม ๖ ประการได้แก่ ๑) เมตตากายกรรม ๒) เมตตาวจีกรรม ๓) เมตตามโนกรรม       ๔) สาธารณโภคิตา ๕) สีลสามัญญตา ๖) ทิฏฐิสามัญญตา สารณียธรรมมีความสอดคล้องกับการมี           มนุษยสัมพันธ์ ซึ่งหมายถึง การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ทั้งในระดับเดียวกัน และต่างระดับกัน ทั้งในด้านส่วนตัว และในการทำงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน อันจะนำมาซึ่งความรัก ความชอบพอ ความร่วมมือร่วมใจในการทำกิจการงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

ผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกการใช้หลักสารณียธรรมเพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ของนักเรียนโรงเรียนราชวินิต มัธยม พบว่านักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจความหมายและความสำคัญของหลักสารณียธรรมดีพอสมควร 

ในด้านที่เกี่ยวกับตนเองนักเรียนมีเมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคิตา และทิฏฐิสามัญญตาดี แต่ควรปรับปรุงเมตตากายกรรม และสีลสามัญญตา ในด้านความสัมพันธ์ต่อเพื่อนนักเรียนมีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม สาธารณโภคิตา ทิฏฐิสามัญญตาดี แต่ควรปรับปรุงเมตตามโนกรรม และสีลสามัญญตา ในด้านความสัมพันธ์ต่อบิดา มารดานักเรียนมีเมตตากายกรรม เมตตามโนกรรม เมตตาวจีกรรม สาธารณโภคิตา สีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตาดี ในด้านความสัมพันธ์ต่อคุณครูนักเรียนมีเมตตากายกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคิตาดี แต่ควรปรับปรุงเมตตาวจีกรรม สีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตา ในด้านความสัมพันธ์ต่อสังคมนักเรียนมีเมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคิตา สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตาดี แต่ควรปรับปรุงเมตตากายกรรม

ปัญหาในเรื่องมนุษยสัมพันธ์พบว่า นักเรียนควรปรับปรุงเมตตากายกรรม และสีล-สามัญญตาต่อตนเอง เมตตามโนกรรม และสีลสามัญญตาต่อเพื่อน เมตตาวจีกรรม สีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตาต่อคุณครู  สาเหตุหลักของปัญหามนุษยสัมพันธ์เกิดมาจาก ๒ ลักษณะ คือ       ก) เกิดจากปัจจัยภายในตัวนักเรียนเอง และ ข) เกิดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

กระบวนการใช้หลักสารณียธรรมเพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ของนักเรียนโรงเรียนราชวินิต มัธยม มีอยู่ ๒ รูปแบบประกอบด้วย ๑) กระบวนการใช้หลักสารณียธรรมแบบไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) และ ๒) กระบวนการใช้หลักสารณียธรรมแบบย้อนไตรสิกขา (ปัญญา สมาธิ ศีล)

ผลลัพธ์ของการใช้หลักสารณียธรรมเพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ของนักเรียน โรงเรียนราชวินิต มัธยม มี ๖ ประการได้แก่ ๑) ทำให้เป็นที่รัก ๒) ทำให้เป็นที่เคารพ ๓) ทำให้เกิดความสงเคราะห์กัน  ๔) ทำให้ไม่วิวาทกัน ๕) ทำให้เกิดความสามัคคีกัน ๖) ทำให้เกิดความเป็น   อันเดียวกัน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕