วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาเรื่องอโหสิกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษากรณีตัวอย่างอโหสิกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องอโหสิกรรมในสังคมไทย ผลจากการศึกษาพบว่า
อโหสิกรรมตามนัยแห่งพระบาลีปฏิสัมภิทามรรคโดยสรุป คือ (๑) กรรมได้มีแล้ว วิบากของกรรมก็ได้มีแล้ว (๒) กรรมได้มีแล้ว วิบากของกรรมมิได้มีแล้ว (๓) กรรมได้มีแล้ว วิบากของกรรมมีอยู่ (๔) กรรมได้มีแล้ว วิบากของกรรมไม่มีอยู่ (๕) กรรมได้มีแล้ว วิบากของกรรมจักมี (๖) กรรมได้มีแล้ว วิบากของกรรมจักไม่มี
กรณีตัวอย่างอโหสิกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาททำให้ทราบลักษณะของอโหสิกรรมว่าเป็นการเสวยวิบากแห่งกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งที่เป็นกรรมในอดีตและปัจจุบัน เมื่อสิ้นสุดการให้ผลของกรรมแล้วเสวยวิบากแห่งกรรมใหม่อีกต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตราบเท่าที่ยังมีสังขารและยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ หรือแม้กระทั่งจิตปราศจากกิเลสแล้วแต่ถ้าหากยังมีสังขารนี้อยู่ก็จะต้องเสวยวิบากแห่งกรรมที่ตนเองกระทำไว้หากกรรมตามทันหรือมีอำนาจในการส่งผลจนกว่าจะละสังขาร ไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป อย่างเช่นบุคคลผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนบุคคลที่ยังเป็นปุถุชนจะต้องเสวยวิบากแห่งกรรมต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
ความเชื่อเรื่องอโหสิกรรมในสังคมไทย หมายถึง การขอขมา การให้อภัย หรือการขอให้หยุดการจองเวรซึ่งกันและกัน โดยมีพื้นฐานความเชื่อจากคำสอนในพระพุทธศาสนาที่แสดงให้เห็นถึงบาป คุณ โทษ นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิดและที่สำคัญอโหสิกรรมมีผลก็ต่อเมื่อเจ้ากรรมนายเวรยินยอมแล้วเท่านั้น
Download |