หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พันตรีสมคิด สวยล้ำ
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๗ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมจากการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พันตรีสมคิด สวยล้ำ ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร , ผศ.ดร.
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ(ละลง), ผศ.ดร.
  ผศ.ดร.มนตรี สืบด้วง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อคือ () เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเทวดา () เพื่อศึกษาการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า () เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมจากการตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้า โดยศึกษาตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

                    ผลของการวิจัยพบว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกได้ระบุถึงแนวคิดเกี่ยวกับเทวดาปรากฏทั้งในพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม โดยเฉพาะในพระสูตรนั้น ได้กล่าวถึงเทวดาไว้เป็นจำนวนมาก ประมวลเรื่องเทวดาเอาไว้เรียกว่า เทวตาสังยุต พระพุทธศาสนาให้การยอมรับว่า เทวดามีอยู่จริง เทวดาเป็นผู้มีความพิเศษในตัวคือ มีกายทิพย์ มีรัศมีงดงาม มีอายุยืนยาว เป็นประชากรชาวสวรรค์ เล่นสนุกสนานด้วยกามคุณ ๕ และด้วยคุณพิเศษมีฌานและอภิญญาเป็นต้น เทวดามาจากมนุษย์ คือมนุษย์ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และใจ จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า พระพุทธ ศาสนา ได้แสดงถึงหลักปฏิบัติที่จะทำให้มนุษย์เป็นเทวดา โดยให้ปฏิบัติในหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หลักสัมปทา ๕ วัตตบท ๗ และหลักเทวธรรม หลักปฏิบัติเหล่านี้เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งแก่ผู้ปฏิบัติ เพราะเป็นหลักที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจ ให้ความหวัง ทำให้ผู้ปฏิบัติตามได้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เมื่อตายแล้วจะได้ไปเกิดที่สวรรค์

                        พระพุทธเจ้ามีการติดต่อกับเทวดาอยู่เป็นประจำซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบมีไมตรีจิตร่วมกันฉันมิตร บางครั้งเทวดาลงจากสวรรค์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ บางคราวพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเทวโลกเพื่อแสดงธรรมโปรดเทวดา พวกเทวดามีโอกาสได้ฟังธรรม และเมื่อมีปัญหาข้อสงสัยก็สามารถลงมายังโลกมนุษย์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามวิธีการแก้ปัญหาของตนได้ คัมภีร์พระไตรปิฎกระบุว่า พระสูตรที่มีเรื่องการถามตอบปัญหาระหว่างเทวดากับพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๖๗ พระสูตรกับ ๑ เรื่อง

                        หลักธรรมที่ได้จากการถามตอบปัญหาระหว่างเทวดากับพระพุทธเจ้านั้นสรุปได้ดังนี้

                        หลักธรรมเพื่อสนองความอยากรู้ของเทวดา เช่น ไม่พัก คือไม่แสวงหาความสุขทางกามารมณ์ซึ่งจัดอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค และไม่เพียร คือไม่แสวงหาความสุขด้วยการทรมานตนให้ลำบากซึ่งจัดอยู่ในอัตตกิลมถานุโยค หลักธรรมทั้ง ๒ นี้มีปรากฏในโอฆตรณสูตร

                        หลักธรรมเพื่อพัฒนาตนเอง เช่น โพชฌา ปัญญาเครื่องตรัสรู้, ตปะ ความเพียรเครื่องเผากิเลส, อินทริยสังวร ความสำรวมอินทรีย์ และสัพพนิสสัคคา การสละทุกอย่าง หลักธรรมทั้ง ๔ นี้มีปรากฏในสุพรหมสูตร บุคคลทั่วไปสามารถนำหลักธรรมดังกล่าวนี้มาพัฒนาตนให้ประสบกับความสวัสดีในการดำเนินชีวิตได้ในปัจจุบัน

                        หลักธรรมเพื่อพัฒนาสังคม เช่น อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม, การดำรงอยู่ในธรรม และศีล ความประพฤติทางกาย วาจา เรียบร้อย หลักธรรมทั้ง ๓ ประการนี้มีปรากฏในวนโรปสูตร จัดเป็นหลักปฏิบัติที่คนทั่วไปสามารถนำไปพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ เช่น การบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยร่วมกันจัดทำสิ่งแวดล้อมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยน่าอยู่อาศัย

                        หลักธรรมเพื่อพัฒนาไปสู่ความหลุดพ้น พระพุทธเจ้าทรงนำหลักธรรมเพื่อความหลุดพ้นมาตอบปัญหาที่เทวดาทูลถามมีปรากฏหลายพระสูตร เช่น มงคลสูตร มีหลักธรรมเพื่อพัฒนาไปสู่ความหลุดพ้นมากถึง ๓๘ ประการ มีการไม่คบคนพาลเป็นต้น และมีจิตเกษมเป็นที่สุด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสรุปไว้ในตอนท้ายของพระสูตรว่า เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวนี้แล้วจะไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน

                        การตอบปัญหาเทวดาของพระพุทธเจ้าก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแผ่ไพศาลอย่างสูงสุดแก่เหล่าเทวดาและมวลมนุษย์โดยทั่วกัน

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕