หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสุระเวช วชิโร (เกชิต)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๕ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์โลกทัศน์ทางพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานเรื่องพระยาคันคาก (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสุระเวช วชิโร (เกชิต) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบาง เขมานนฺโท,ดร.
  รศ. อุดม บัวศรี
  ดร. อุดร จันทวัน
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง ศึกษาวิเคราะห์โลกทัศน์ทางพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานเรื่องพระยาคันคาก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบวรรณกรรมอีสาน เพื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในวรรณกรรม และ วิเคราะห์โลกทัศน์ทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในวรรณกรรม เรื่องพระยาคันคาก  เป็นการวิจัยเอกสาร  โดยใช้วิธีวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์

ผลจากการศึกษา พบว่า วรรณกรรมพื้นบ้านอีสานมีลักษณะผสมผสานตามความเชื่อท้องถิ่นกับวรรณกรรมท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และสามารถจัดเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้คือ วรรณกรรมพุทธศาสนา วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมนิทาน วรรณกรรมคำสอน และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด

สำหรับพุทธธรรมที่ปรากฏในเรื่องพระยาคันคากนี้ พบว่า มี ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสภาวธรรม ได้แก่ หลักอริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ และกรรมนิยาม และส่วนที่เป็นคุณธรรม ได้แก่ ความกตัญญู ความเมตตา ความสามัคคี ความสันโดษ ความเสียสละ หลักกัลยาณมิตร การบำเพ็ญทาน และความเพียร

โลกทัศน์ทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏ ได้แก่ โลกทัศน์ทางธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ หลักความสัมพันธ์ การปกครอง และเศรษฐกิจและการครองชีพโลกทัศน์ที่มีต่อธรรมชาติ ได้แก่ การอาศัยธรรมชาติคือน้ำฝนในการทำนาของเหล่ามนุษย์ น้ำจึงเป็นธรรมชาติที่สำคัญ, โลกทัศน์ที่มีต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ได้แก่ ความลี้ลับ มหัศจรรย์แห่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การเนรมิตปราสาทแก่พระยาคันคาก เป็นต้น, หลักความสัมพันธ์ ได้แก่ ความผูกพันเกี่ยวข้องของคนในครอบครัว และสังคม, หลักการปกครองในเรื่องพระยาคันคากนั้นเป็นการใช้อำนาจปกครองในทางที่ไม่ชอบธรรมของพระยาแถน, ด้านเศรษฐกิจและการครองชีพ ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลายมีอาชีพทำนา ต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนา เมื่อเกิดความแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกระทำของพระยาแถน จึงเป็นอยู่ด้วยความยากลำบาก จึงได้ต่อสู้กับพระยาแถน จนได้ชัยชนะในที่สุดและกลับมีความเป็นอยู่ที่ดีดังเดิม

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕