หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสิรภพ มหายโส (สวินชัย)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๘ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบอิสรภาวะของมนุษย์ตามทัศนะของลัทธิเหตุวิสัยกับอิสรภาวะของมนุษย์ตามหลักกรรมในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระสิรภพ มหายโส (สวินชัย) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล, ผศ.ดร.
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี, ดร.
  นายบัณฑิต รอดเทียน
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิสรภาวะของมนุษย์ตามทัศนะของลัทธิเหตุวิสัย เพื่อศึกษาอิสรภาวะของมนุษย์ตามหลักกรรมในพุทธปรัชญาเถรวาท และเพื่อเปรียบเทียบอิสรภาวะของมนุษย์ตามทัศนะของลัทธิเหตุวิสัยกับอิสรภาวะของมนุษย์ตามหลักกรรมในพุทธปรัชญาเถรวาทโดยใช้วิธีการวิจัยทั้งในเชิงเอกสารผลการศึกษาวิจัยพบว่า

ลัทธิเหตุวิสัย ให้แนวคิดเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ว่าทำนายได้  ที่บางคนกล่าวว่าทำนายไม่ได้นั้นเพราะว่า เราไม่รู้เงื่อนไขของการกระทำนั่นเอง  แต่ถ้ารู้บริบทของคนนั้น ๆ ก็จะสามารถทำนายได้  ชาวเหตุวิสัยยังเห็นอีกว่า  การกระทำทั้งหมดของมนุษย์ถูกกำหนดขึ้น โดยการถูกหล่อหลอมด้วยสิ่งเร้าจากสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นอุปนิสัย (รวมทั้งค่านิยมและรสนิยม) จนทำให้คนเราแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงตกอยู่ในอำนาจของสิ่งเร้าเลยขาดความเป็นอิสระเฉพาะตนฉะนั้น ลัทธิเหตุวิสัย จึงมองว่า สรรพสิ่งล้วนตกอยู่ในอำนาจความเป็นเหตุและผล มีปัจจัยที่เป็นแรงผลักให้เป็นไป ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาลอย ๆทุกอย่างขาดความเป็นอิสระเฉพาะตน และนอกจากนี้ยังรวมถึงการกระทำของมนุษย์ด้วยที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ที่ต้องอาศัยสิ่งเร้า หามีความเป็นอิสระไม่

พุทธปรัชญาเถรวาทมองความเป็นอิสระของกรรมออกเป็น ๒ ระดับ คือ อิสระในระดับโลกียะที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขหรือในเขตจำกัด และอีกระดับคือ อิสระในระดับโลกุตตระ ที่ถือว่าเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง ไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข  ความอิสระตามความหมายทางพุทธปรัชญาเถรวาท  หมายถึง  ภาวะที่ปรอดโปร่งโล่งสบายคลายจากเหตุปัจจัยที่จะทำให้หมุนไปสู่ความทุกข์อีก  ภาวะเช่นนี้เราเรียกโดยภาษาทางธรรมว่า  นิพพาน จัดเป็นโลกุตตระกรรมหรือการกระทำตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาทจึงเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่คอยหนุนนำให้เกิดกรรม ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ และปัจจัยภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรืออุปนิสัยทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วคอยเป็นเชื้อหนุนนำ  กรรมจึงมีความเป็นอิสระในเขตจำกัด หรือต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัย

                 จากการศึกษาทั้งสองทัศนะจะเห็นได้ว่ากรรมหรือการกระทำตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นมีความหมายที่กว้างกว่าเหตุวิสัย ทั้งนี้เพราะพุทธปรัชญาเถรวาทมีความหมายคลุมไปถึงทั้งรูปธรรมและนามธรรม แต่เหตุวิสัยอ้างแค่รูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น สิ่งที่เหนือสัมผัสนี้จะไม่ยอมรับ ถึงแม้ตามแนวความคิดของทั้งสองจะตั้งอยู่บนทฤษฎีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเดียวกันก็ตาม  ดังนั้น จึงขอสรุปประเด็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ของแนวความคิดทั้งสองว่า  ลัทธิเหตุวิสัยมุ่งต้องการเพื่อสนองความปรารถนาของบุคคล  สังคม  เป็นสำคัญ  ซึ่งยากที่จะคำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริง  ส่วนพุทธปรัชญาเถรวาทนั้น  มุ่งที่จะให้บุคคล  สังคมเข้าใจในความเป็นจริง  โดยให้ความสำคัญจากคุณค่าภายในเพื่อผลที่ออกมาสู่ภายนอก

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕