การศึกษาวิเคราะห์วิธีการสอนของพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑, เพื่อศึกษาประวัติและผลงานของพระพุทธพจนวราภรณ์ ๒, เพื่อศึกษาวิธีการสอนของพระพุทธพจนวราภรณ์ ๓, เพื่อวิเคราะห์ผลการสอนของพระพุทธพจนวราภรณ์
วิทยานิพนธ์นี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร แหล่งข้อมูลหลักคือ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ และศึกษาจากหนังสือหรือเอกสารของ พระพุทธพจนวราภรณ์ ตลอดถึงเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธพจนวราภรณ์ เป็นพระมหาเถระที่เปี่ยมด้วยเมตตาคุณ ท่านสอนบรรพชิตและคฤหัสถ์ ให้รู้ถึงความสำคัญของการศึกษา ด้วยการก่อตั้งสถานศึกษาสำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนมัธยมเมตตาศึกษา ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา โดยเน้นการสอดแทรกธรรมะควบคู่กันไป และก่อตั้งมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท เพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้ยากไร้ในชนบท
วิธีการสอนของท่านเป็นส่วนสำคัญในการเผยแผ่ของท่านว่าโดยเนื้อหามี ๒ ด้านคือ๑. การพัฒนา ๒. วิชาการ :-
๑. การพัฒนา มีทั้งพัฒนาบุคคลและพัฒนาวัตถุ
๒. วิชาการ มีทั้งการศึกษาและพระพุทธศาสนา
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ พระพุทธพจนวราภรณ์ ในฐานะผู้ส่งสารมี ๒ ประการ คือ
ปัจจัยภายใน ได้แก่ คุณธรรมและความรู้ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ บุคลิกภาพหรือปฏิปทาที่ก่อคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำหลักพุทธธรรมมาพัฒนาบุคคลทั้งสองส่วน คือ ร่างกายและจิตใจ
ผลจากการสอนของท่าน ทำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์เหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตได้ในสังคมอย่างมีความสุข โครงการนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งท่านได้ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่น ในการผลิตบุคคลที่มีคุณภาพและศักยภาพสู่สังคม ซึ่งท่านได้ทำมาแล้วกว่า ๓๐ ปี การทำงานทั้งหลายของท่านเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
download |