หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นาย ชลากร เทียนส่องใจ
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๕ ครั้ง
การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเชิงพุทธ: หลักการและเครื่องมือสำหรับการจัดการความขัดแย้ง (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นาย ชลากร เทียนส่องใจ ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระธรรมโกศาจารย์
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ. ดร.
  ผศ. ดร. ปาริชาด สุวรรณบุบผา
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การศึกษา การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเชิงพุทธ: หลักการและเครื่องมือสำหรับการจัดการความขัดแย้ง มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ความขัดแย้ง และ การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ๒) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และการจัดการความขัดแย้งทางพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีการทางพระพุทธศาสนา ในการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ของรูปแบบการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเชิงพุทธ ซึ่งเป็นหนึ่งในสันติวิธีของการจัดการความขัดแย้ง การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเน้นทั้งวิจัยทางเอกสาร และเชิงปฏิบัติการ ผลของการศึกษา มีดังต่อไปนี้

                      ๑. ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งสามารถแบ่งตามปัจจัยภายนอกออกได้เป็น  ๕ ประเภทด้วยกัน คือ ๑) ความขัดแย้งด้านข้อมูล ๒) ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ๓) ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ ๔) ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง และ๕) ความขัดแย้งด้านคุณค่าหรือค่านิยม การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการความขัดแย้ง โดยมีบุคคลที่สามหรือคนกลางเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา บทบาทหน้าที่ของคนกลางจะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำ และ พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาความขัดแย้ง เพื่อที่จะให้คู่กรณีสามารถบรรลุข้อตกลงได้โดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้คนกลางจะไม่มีอำนาจบังคับให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามคำแนะนำแต่อย่างใด

                      ๒. ในทัศนะของพระพุทธศาสนา รากเหง้าที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากเหตุปัจจัยภายใน คือ อกุศลธรรมและปปัญจธรรม  โดยทิฏฐิซึ่งเป็นหนึ่งในปปัญจธรรมนั้น ถือว่าเป็นแกนกลางที่อยู่ลึกที่สุด เพราะเป็นการยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์ของแต่ละคน  ยิ่งถ้าทิฏฐินั้นประกอบไปด้วยอกุศลมูล อันได้แก่ โลภะ โทสะและโมหะ ทิฏฐินั้นก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เหตุปัจจัยภายในรวมทั้งเหตุปัจจัยภายนอก จะกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดสภาวะของความขัดแย้งขึ้น จนนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด ในการปฏิบัติการจัดการความขัดแย้งทางพระพุทธศาสนา นั้นแบ่ง ออกได้ เป็น ๓ วิธี คือ  (๑) การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง (๒) อภัยทาน และ (๓) ทางเลือกอื่นตามแนวทางแห่งพระวินัย ซึ่งได้แก่ การไต่สวน การประนีประนอม การใช้เสียงข้างมาก และ การพิจารณาตัดสินโดยสังฆสภา         

                ๓. หลักการและวิธีการในการเจรจาไกล่เกลี่ยเชิงพุทธ ประกอบไปด้วย ๙ ขั้นตอน ซึ่งได้แก่  (๑) คุมสติ - Mindfulness Control (๒) ทำหน้าที่กัลยาณมิตร - Education Process (๓) สื่อสารอย่างลึกซึ้ง - Deep Communication (๔) วิเคราะห์เรื่องราว - Issues Analysis (๕) เข้าถึงวิธีการ- Approaching to Strategies (๖) คิดอย่างแยบคาย - Thinking Wisely (๗) หาจุดสนใจ - Interest Finding (๘) เสนอทางเลือก - Option Creating และ (๙) สร้างสัมพันภาพอันดี -New Relationship Building ทั้ง ๙ ข้อที่กล่าวมานี้ สามารถสรุปได้เป็นรูปแบบของพุทธวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๓ ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ (๑) ขั้นตอนกัลยาณมิตร (๒) ขั้นตอนโยนิโสมนสิการ และ (๓) ขั้นตอนการจัดการปัญหาความขัดแย้ง  ในขั้นตอนกัลยาณมิตรนั้น คนกลางจะต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่โดยตรง แต่ในขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง และคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จะต้องมีบทบาทหน้าที่ร่วมมือกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เกิดสัมมาทิฏฐิ ในการหาจุดสนใจอย่างแท้จริงของคู่กรณี และส่งเสริมความเข้าใจอันดีของทั้งสองฝ่าย กล่าวโดยสรุป การเจรจาไกล่เกลี่ยเชิงพุทธ เป็นหนึ่งในพุทธสันติวิธี ที่ใช้นำมาเป็นรูปแบบสำหรับจัดการปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถใช้ได้ในรูปแบบการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ยั่งยืนดังเช่นการให้อภัยทาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการจัดการความขัดแย้งทางพระพุทธศาสนา

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕