การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) ศึกษาหลักธรรมในการดำเนินชีวิตของผู้นำ (๒) ศึกษาการดำเนินชีวิตของผู้นำในสังคมไทย (๓) วิเคราะห์และสังเคราะห์การดำเนินชีวิตเชิงพุทธของผู้นำในสังคมไทย เพื่อเป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั่วไป
การดำเนินการวิจัย ภาคเอกสารโดยการรวบรวมแนวคิด ทฤษฎีการดำเนินชีวิตสำหรับผู้นำจากพระไตรปิฎก อรรถกถา และเอกสารทางวิชาการต่างๆ และภาคสนามโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกการดำเนินชีวิตของผู้นำในสังคมไทย ๑๕ ท่าน จาก ผู้นำชุมชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ ๔ ท่าน ผู้นำองค์กรภาครัฐ ๕ ท่าน และ ผู้นำองค์กรภาคเอกชน ๖ ท่าน
ผลการศึกษาพบว่า หลักการดำเนินชีวิตของผู้นำเชิงพุทธ ต้องเริ่มจากการเป็นคนดีที่ถึงพร้อมทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม โดยมีหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง คือ นาถกรณธรรม ฆราวาสธรรม สัปปุริสธรรม ๗ พรหมวิหารธรรม และสังคหวัตถุธรรม การประพฤติตนเป็นผู้นำที่ดี โดยมีวิสัยทัศน์ กัลยาณมิตร และการบริหารปกครองที่ดี ด้วยหลักธรรมคือ อปริหานิยธรรม อิทธิบาท ๔ อคติ ๔ และพละ ๔ สำหรับหลักการของอริยสัจ ๔ และโยนิโสมนสิการ เป็นหลักธรรมสำหรับความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต อันส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจของผู้นำ
การศึกษาการดำเนินชีวิตของผู้นำในสังคมไทย ๑๕ ท่าน พบว่า การดำเนินชีวิตของท่านเริ่มจากการพัฒนาตนเป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม โดยอาศัยกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการเพื่อให้เกิดแนวทางนำไปสู่ความสำเร็จ มีคุณสมบัติของการการครองตน ครองคน ครองงาน และครองใจ อันเป็นมาตรฐานของการเป็นผู้นำที่ดี
การวิเคราะห์การดำเนินชีวิตเชิงพุทธ เพื่อนำไปสู่การเป็นแบบอย่างที่ดี พบว่า ผู้นำที่ดี ประกอบด้วย การเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิตและการบริหาร พร้อมด้วยความรู้ความสามารถเพื่อนำพาองค์กรและพัฒนาบุคลากรให้เจริญก้าวหน้าทั้งวัตถุและจิตใจ และการสร้างประโยชน์สุขแก่สังคม ทั้งนี้ตนเองมีความสุขในการดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม
download |