หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระจิรวัฒน์ อุตฺตมเมธี (วุฒิพงศ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๙ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การศึกษาเพื่อพัฒนาตนตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระจิรวัฒน์ อุตฺตมเมธี (วุฒิพงศ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ผศ
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ, ผศ.ดร.
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะศึกษาถึงแนวคิดเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาตนตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เพื่อให้ทราบว่า การศึกษาเพื่อพัฒนาตนคืออะไร มนุษย์สามารถที่จะใช้การศึกษาเพื่อพัฒนาตนได้หรือไม่ และสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร

                 จากการศึกษาพบว่า การศึกษาเพื่อพัฒนาตนตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ หมายถึง การศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม ซึ่งสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้  เช่น วีรบุรุษและนักปราชญ์ทั้งหลาย ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในการดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน การใช้การศึกษาเพื่อฝึกฝนพัฒนาตน ก็เพื่อความไม่มีทุกข์ และเป็นอิสรภาพทางกาย อิสรภาพทางสังคม อิสรภาพทางจิตใจ และอิสรภาพทางปัญญา ซึ่งเป็นจุดหมายของชีวิต

        กระบวนการฝึกฝนพัฒนาตน ได้แก่ หลักไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขาและอธิปัญญาสิกขา หรือ ศีล สมาธิ และปัญญา ไตรสิกขาได้มีความสำคัญทั้งในฐานะเป็นหลักการเพื่อการดับกิเลส และเป็นรากฐานสำคัญของการกำหนดแบบแผนพฤติกรรม อีกทั้งเป็นวิธีการปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยพัฒนาบุคคลไปตามลำดับจากปุถุชนไปสู่อริยบุคคล นอกจากนั้นยังมีหลักภาวนา ๔ สำหรับตรวจสอบบุคคลผู้ได้รับการพัฒนาตนแล้ว จะสะท้อนออกมาทางกาย ศีล (สังคม) จิต (อารมณ์) ปัญญา โดยปรากฏให้เห็นได้ในการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้น

        การศึกษากับการพัฒนาตน จึงได้มีความสัมพันธ์ต่อกันเป็นอย่างมาก โดยมีหลักการฝึกฝน คือไตรสิกขา และมีหลักตรวจสอบ คือภาวนา ๔ การศึกษาช่วยให้มนุษย์ถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต ขณะเดียวกัน การพัฒนาตนจำเป็นจะต้องพึ่งการศึกษา จุดมุ่งหมายของชีวิตจึงจะสัมฤทธิ์ผล ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ จึงไม่สามารถแยกออกจากชีวิตของมนุษย์ได้

                 การศึกษาตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พบว่า ท่านได้วางแนวการศึกษาไว้เพื่อให้บุคคลรู้จักชีวิต และวิธีการดำเนินชีวิตของตนอย่างถูกหลักธรรมและประเพณี แล้วพัฒนาการดำเนินชีวิตไปสู่ประโยชน์สุข ตามแบบอย่างที่ชาวโลกจะพึงได้รับ คือ การอยู่ดีกินดี การไม่มีหนี้สิน และประกอบสัมมาอาชีพ อันเป็นประโยชน์ที่พึงได้รับในปัจจุบัน และให้บุคคลเข้าใจการสืบต่อของชีวิต ซึ่งได้แก่ การเวียนว่ายตายเกิด แล้วพัฒนาชีวิตไปตามหลักธรรม เพื่อความมีชีวิตใหม่ในสุคติภูมิ ตราบเท่าที่ยังมีกิเลส การดำเนินชีวิตแบบนี้เป็นประโยชน์ถาวร มั่นคง และจะอำนวยผลที่ดีให้ทั้งในชาติปัจจุบัน และชาติต่อ ๆ ไป จนถึงความเป็นอิสระอันยิ่งใหญ่ คือ การหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งความจริงอันนี้เป็นประโยชน์สูงสุด.

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕