หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายชัยยา ทองอาบ
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
การใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นายชัยยา ทองอาบ ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  ผศ.ดร.เติมศักดิ์ ทองอินทร์
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา และข้อเสนอแนะแนวทางของการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน อันได้แก่ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างจ้างเหมาที่ปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน จำนวน ๔๐๐ คน แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยมีการหาคุณภาพ โดยการหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity) จากผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๕ ท่าน และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ ๐.๙๖๔ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ใช้สถิติทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)

                       ผลการวิจัย พบว่า 

                  ระดับความคิดเห็นของบุคลากรต่อการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่า บุคลากรในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน มีความคิดเห็นว่า การใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง  ( X = ๓.๒๕) และเมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน

                  ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า บุคลากรที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส และประสบการณ์การทำงาน ต่างกัน มีความคิดเห็นในการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยรวมไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้

                  ปัญหา เกี่ยวกับการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่า บางครั้งการทำงานมีปัญหา จะได้รับคำปรึกษาน้อย และการทำงานเกิดความผิดพลาดมักจะถูกตำหนิ มากกว่าการให้คำแนะนำ นอกจากนี้บุคลากรบางคน พูดจาทักทายด้วยน้ำเสียงดูเหมือนไม่จริงใจเท่าที่ควร รวมถึงการทำงานที่รู้สึกเครียดหรือสับสน ทำให้มีการอธิบายข้อมูลข่าวสารที่ไม่ค่อยสุภาพ ความผูกพันน้อยและความเอาใจใส่ ยังมีอยู่บ้างบางครั้งการทำงานยังยึดติดกับตัวบุคคลมากเกินไป ยังมีมาตรฐานที่ไม่แน่นอน มีการมุ่งมั่นต่อการทำงานมากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงขอบเขตของกฎระเบียบในการทำงาน นอกจากนี้การทำงานบางอย่าง มีอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร

              ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่า ควรให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนร่วมงานที่เดือดร้อน ด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ มีการให้อภัยอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดพลาดในการทำงานร่วมกัน มีความเป็นกัลยาณมิตร พูดจาทักทายด้วยน้ำเสียงที่จริงใจ พูดอธิบายข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ด้วยความสุภาพ ถึงแม้จะประสบกับภาวะเครียด หรือสับสน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและต้องไม่ยึดติดกับบุคคล หรืองานนั้น แต่ควรคำนึงถึง ผลประโยชน์ขององค์การเป็นหลัก มีบรรทัดฐาน หรือกฎเกณฑ์ ที่ทุกคนยอมรับ และส่งเสริมให้ทุกคนปฏิบัติตาม ทำงานโดยยึดกฎระเบียบมากกว่าการยึดติดกับผลของงาน และการมีคุณธรรมประจำใจในการปฏิบัติงาน รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาใช้ในการดำเนินงาน

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕