หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวิโรจน์ วิโรจโน (ผาทา)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๘ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๔๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวิโรจน์ วิโรจโน (ผาทา) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต)
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ เมษายน ๒๕๔๓
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ประสงค์ที่จะศึกษาทรรศนะเรื่องประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาทและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะหาข้อสรุปเกี่ยวกับจุดยืนในด้านหลักประโยชน์หรืออรรถประโยชน์ของตนเอง  และเพื่อจะตอบปัญหาว่าเมื่อทรรศนะประโยชน์อื่นๆทางฝ่ายตะวันตก เช่น ปรัชญาประโยชน์นิยมได้ให้คำตอบเรื่องประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจริยธรรมแก่สังคม  เมื่อเป็นเช่นนั้นทรรศนะด้านประโยชน์ของพุทธปรัชญาเถรวาทจะมีอยู่บ้างหรือไม่  และถ้ามีจะให้คำตอบด้านการแก้ไขปัญหาจริยธรรมได้อย่างไร

           ในการศึกษาวิจัย  ผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาของงานวิจัยออกเป็น ๕ บท ซึ่งแต่ละบทจะอธิบายถึงจุดประสงค์ที่ต้องการศึกษา ดังนี้

          บทที่  ๑    กล่าวถึงความสำคัญและความเป็นมาของปัญหาที่จะต้องนำมาศึกษา

          บทที่   ๒  กล่าวถึงทรรศนะอันเป็นบริบททั่วไปของแนวคิดเรื่องอรรถประโยชน์ทั้งทางฝ่ายตะวันตก คือ เจเรอมี เบ็นธัม และจอห์น สจ๊วต มิลล์  

          บทที่   ๓  กล่าวถึงประโยชน์ในทรรศนะประโยชน์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท ทั้งที่ปรากฎในคัมภีร์  และทรรศนะส่วนบุคคลของนักศาสนา  และนักปรัชญาชาวพุทธเพื่อที่จะศึกษาถึงความหมายที่แท้จริงของประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาท

          บทที่ ๔  กล่าวถึงการนำแนวคิดเรื่องประโยชน์ประโยชน์ทั้งในทรรศนะของเจเรอบีเบ็นธัม และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่ได้อธิบายไว้ในบทที่ ๑ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นถึงความคล้ายคลึง  และความแตกต่างของแนวคิดทั้งสองฝ่าย  และเป็นการหาข้อสรุปว่าแท้จริงแล้วพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นประโยชน์นิยมหรือไม่  รวมไปถึงการนำกรอบแนวคิดเรื่องประโยชน์ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินปัญหาจริยธรรมบางประการและศึกษาถึงอิทธพลของแนวคิดเรื่องประโยชน์ที่มีต่อสังคมในด้านต่างๆ ด้วย

          บทที่ ๕    กล่าวถึงผลสรุปที่ได้ศึกษาวิจัยมาทั้งหมดพร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการทำปัญหาที่ยังไม่ได้ศึกษาไปค้นคว้าต่อไป

          จากการศึกษาวิจัยมาทั้งหมดผู้วิจัยได้พบข้อสรุปอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับหลักประโยชน์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท ดังนี้

          ๑.  คำว่าประโยชน์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท หมายถึง ความสุขหรือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น  เจริญขึ้น  หรือแปลว่า จุดหมายของชีวิตมนุษย์  ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ    ๑.๑  ประโยชน์ทางวัตถุ ได้แก่ ทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น  ๑.๒  ประโยชน์ทางด้านจิตใจ ได้แก่ การบรรลุคุณธรรม ทั้งมรรคผลนิพพาน หรือระดับขั้นของการพัฒนาจิตใจ เป็นต้น

          ๒. พุทธปรัชญาเถรวาทมีหลักประโยชน์อยู่ที่การทำประโยชน์เพื่อมวลชนและมีรายละเอียดอยู่ที่การคำนึงถึงประโยชน์ตนเอง เป็นอันดับแรกจากนั้นจึงจะขยายความพร้อมมูลของตนเองไปช่วยเหลือผู้อื่นให้บรรลุประโยชน์ตนเอง  ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้ก็จะเกิดประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายขึ้น กล่าวคือ ทั้งตนเองและผู้อื่นก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน

          ๓. ประโยชน์ในทรรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นแบ่งได้เป็น ๖ ประเภท  คือ           ๓.๑  ประโยชน์ชาตินี้  ๓.๒  ประโยชน์ชาติหน้า ๓.๓ ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์ ๓ ประการนี้ พุทธปรัชญาเถรวาทเห็นว่ามนุษย์ควรบรรลุประโยชน์ชาตินี้ ชาติหน้าให้ได้  จึงจะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเกิดมาไม่ใช้ประโยชน์  นอกจากนั้น  ยังมีประโยชน์ที่เหลืออีก คือ  ๓.๔ ประโยชน์ตน ๓.๕ ประโยชน์คนอื่น   ๓.๖ ประโยชน์สองฝ่าย  ประโยชน์ ๓ ประการนี้ มนุษย์จะต้องยึดเอาประโยชน์ตนก่อน กล่าวคือ อันดับแรกมนุษย์จะต้องมีความพร้อมก่อนที่จะไปช่วยเหลือคนอื่น  เพราะเมื่อไม่บรรลุประโยชน์ตนเองก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ยาก

          ๔. เมื่อนำหลักประโยชน์ของพุทธปรัชญาเถรวาทไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีประโยชน์นิยมของเจเรอมี เบ็นธัม และ จอห์น สจ๊วต มิลล์  และได้ข้อสรุปว่า หลักประโยชน์ของพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นไม่เป็นประโยชน์นิยมแบบตะวันตก เพราะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านหลักการและรายละเอียด ๔ ประเด็น คือ ๔.๑ ด้านหลักการ  ๔.๒ ด้านความสุข  ๔.๓ ด้านแรงจูงใจ และผลของการกระทำ ๔.๔ ด้านหลักสัมพัทธ์นิยม  ซึ่งประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งว่า พุทธปรัชญาเถรวาทไม่เป็นประโยชน์นิยมอย่างชัดเจนก็คือ (๑)  ประเด็นเรื่องแรงจูงใจและผลการกระทำ (๒) ประเด็นเรื่องหลักสัมพัทธ์นิยม

          ๕. จากการศึกษาวิจัยพบว่า   แนวคิดเรื่องประโยชน์ในทรรศนะพุทธปรัชญาดเถรวาทนั้นมีอิทธิพลต่อสังคมในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น
 

Download : 254312.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕