วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๑) แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำ ๒) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำของอนาถบิณฑิกอุบาสก ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการนำภาวะผู้นำของอนาถบิณฑิกอุบาสกไปประยุกต์ใช้กับสังคมไทยปัจจุบัน
โดยมีวิธีดำเนินการวิจัยคือ
วิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลสำคัญ จากการศึกษาหลักการ แนวคิดทฤษฏีและผลการวิจัยจากเอกสารวิชาการด้านภาวะผู้นำโดยทั่วไปและการศึกษาหลักธรรม จากพระไตรปิฏก ในประเด็นคุณลักษณะและวิถีชีวิตของอนาถบิณฑิก ที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติความเป็นผู้นำของอุบาสกในพระพุทธศาสนา หลังจากที่ได้ข้อสรุปเป็นคุณลักษณะภาวะผู้นำ ทั้งผู้นำทั่วไปและภาวะผู้นำของท่านอนาถบิณฑิกอุบาสก แล้วได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งด้านการบริหารกิจการศาสนา กรรมการมหาเถรสมาคมและนักวิชาการทางธรรม เพื่อสัมภาษณ์เจาะลึกแนวทางและแนวคิดการนำคุณลักษณะสำคัญด้านภาวะผู้นำของอนาถบิณฑิกอุบาสกไปประยุกต์ใช้ ในสังคมไทยปัจจุบันในด้านต่างๆ เช่น การเผยแผ่หลักธรรมคำสอน การบำรุงพระพุทธศาสนา และการสังคมสงเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
คุณลักษณะผู้นำโดยทั่วไปคือเป็นผู้มีคุณสมบัติความพร้อมด้านความรอบรู้ทางวิชาการ เป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีความสามารถในการนำ มีความสามารถด้านสติปัญญาและเป็นผู้มีบารมีสูงผลการศึกษาวิจัยพบว่าคุณลักษณะสำคัญร่วมกันเหล่านี้ มีความสัมพันธ์กัน เป็นแบบจำลอง ที่เรียกว่า KELIC Model ที่ประกอบด้วยคุณลักษณะด้านความรอบรู้ (Knowledge) ความมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional) ความเป็นผู้นำ (Leader) ความสามารถทางปัญญา (Intelligence) และความเป็นผู้มีบารมี (Charisma)
ผลการวิเคราะห์คุณลักษณะภาวะผู้นำของท่านอนาถบิณฑิกอุบาสก พบว่า มีคุณสมบัติสำคัญอันเป็นแบบอย่างแท้จริง เป็นผู้มีการศึกษาเรียนรู้และเผยแผ่หลักธรรมคำสอน อย่างถ่องแท้เป็นผู้มีการปฏิบัติอามิสทานอย่างทุ่มเท บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้มีจิตสาธารณะ ให้การสงเคราะห์สังคม โดยทั่วไปอย่างจริงใจ คุณลักษณะสำคัญ อันเป็นพื้นฐานของผู้มีโภคทรัพย์สูงจนก่อให้เกิดความเป็นผู้มีอริยทรัพย์มาก สมควรเป็นแบบอย่างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกิจการทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำของอนาถบิณฑิกอุบาสกกับสังคมไทย คือ ด้านการเป็นผู้นำอุบาสก ในพระพุทธศาสนาที่มีจิตเสียสละ มีความเมตตาความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธองค์และหลักธรรมคำสอนอย่างแท้จริง การเป็นแบบอย่างในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน ที่พระธรรมทูต หรือผู้มีหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมคำสอนควรได้เห็นแบบอย่างจากท่านอนาถบิณฑิกอุบาสกคือ การศรัทธาพระพุทธองค์ การศึกษาเรียนรู้ หลักธรรม การปฏิบัติธรรมอย่างทุ่มเทโดยเฉพาะ อามิสทาน เข้าถึงแก่นธรรมเข้าใจอย่างลึกซึ้งแท้จริงแล้วจึงเป็นผู้นำการเผยแผ่คำสอน ได้อย่างรู้แจ้งเห็นจริง การประยุกต์ใช้ได้ในสังคม ประการต่อมา คือการทำนุบำรุง กิจการพระพุทธศาสนา ต้องมีการบูรณะ การสร้างเสริมวัดหรือแหล่งปฏิบัติธรรมให้มีความสมบรูณ์และเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระธรรมคำสอนตลอดจนการมีจิตอาสาให้การสงเคราะห์สังคมหรือดูแลผู้มีความทุกข์ได้ตลอดเวลา
download |