การศึกษาวิจัยเรื่อง ศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง : กรณีศึกษาในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกและพระบัณฑิตอาสาฯในหมู่บ้านของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของพระธรรมจาริกและพระบัณฑิตอาสาฯ ในหมู่บ้านของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยใช้วิธีการวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เครื่องมือที่เก็บข้อมูลได้แก่ แบบสอบถาม การสังเกต แบบสัมภาษณ์ จัดประชุมกลุ่มย่อยพระสงฆ์และชาวบ้านถึงกระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จำนวน ๑๒๓ รูป/คน พื้นที่ที่ทำการวิจัยประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ๗ หมู่บ้าน ในเขตตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแจ่มหลวง และตำบลแม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ผลจากการศึกษาพบว่า การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาและพระธรรมจาริก มีกลยุทธและวิธีการเผยแผ่ในช่องทางที่หลากหลายและต่อเนื่อง รูปแบบของการอบรมศีลธรรมในวันสำคัญต่างๆ การออกเยี่ยมเยียนและการช่วยเหลือชาวบ้านด้วยปัจจัยสี่ การบรรยายธรรมเสียงตามสาย การบรรยายธรรมผ่านสถานีวิทยุ กิจกรรมธรรมสัญจร ทำบุญสัญจร การทำวัตรสัญจร การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การสอนศีลธรรมในสถานศึกษา จัดค่ายคุณธรรมสำหรับเยาวชน ปฏิบัติธรรมรักษาอุโบสถศีล ตลอดถึงการสอดแทรกพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในพิธีกรรมดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เช่น พิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน พิธีงานศพ และผูกข้อมือ มีการนำหลักธรรมไปบูรณาการกับวัฒนธรรมในวาระโอกาสต่างๆ ได้อย่างกลมกลืม นอกจากนั้นมีการจัดตั้งแกนนำชาวพุทธ กลุ่มยุวพุทธในแต่ละอาศรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และกระบวนการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระบัณฑิตอาสาฯและพระธรรมจาริก เป็นแบบเชิงรุกและเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และการนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันตามความเหมาะสม
จากวิธีการทำงานดังกล่าว ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีการนำบุตรหลานเข้าบรรพชาอุปสมบท เพื่อมาศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นการสร้างพุทธทายาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอนาคต กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้เข้าพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ยึดถือพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งตลอดชีวิตของแต่ละหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ในวันสำคัญของพระพุทธศาสนาและวันสำคัญของชาติ มีการจัดกิจกรรมในอาศรม ชาวบ้านจะให้ความร่วมมือและไปร่วมอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นอาศรมของชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านจิตใจและจุดศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมอีกด้วย นับว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระบัณฑิตอาสาและพระธรรมจาริกในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่สามารถสร้างแสงสว่างแห่งธรรมให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงและเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้มั่งคงตลอดไป
Download |