การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมาย ความสำคัญ ลักษณะและประเภทของคะลำอีสาน และเพื่อศึกษาหลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในคะลำอีสาน
ผลการวิจัยพบว่า
(๑) คะลำอีสาน เป็นกฎกติกา หรือข้อห้ามทางสังคม ที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ในการอยู่ร่วมกันในสังคมของชาวอีสานที่มีมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาที่แยบยล โดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการบัญญัติข้อห้ามมิให้บุคคลประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของคะลำแล้ว พบว่า ยังไม่มีการกำหนดถึงลักษณะที่ชัดเจนไว้ เนื่องจากตัวบทของคะลำบางสำนวนมีนัยความหมายที่ทับซ้อนกันในหลายมิติ ผู้วิจัย จึงได้กำหนดลักษณะของคะลำตามพฤติกรรมของตัวแสดง (Actor) ที่มีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม เป็นสามลักษณะ ได้แก่ คะลำทั่วไป คะลำเกี่ยวกับตนเอง และคะลำเกี่ยวกับผู้อื่น
(๒) เมื่อทำการวิเคราะห์ตีความ พบว่า คะลำอีสานทั้งสามประเภทมีพื้นฐานมาจากกรอบแนวคิดตามหลักพุทธจริยธรรมหลายระดับ นับแต่ เบญจศีล กุศลกรรมบถ ตลอดจนมรรคมีองค์แปด และค้นพบว่า คะลำอีสานเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ตามแนวทางของจริยธรรมมาเป็นวาทกรรมเชิงปฏิบัติอย่างกลมกลืนสามารถนำมาใช้ในการอบรมสั่งสอนและย้ำเตือนข้อห้ามปฏิบัติต่อผู้คนในสังคม ช่วยให้สังคมของชาวอีสานดำรงอยู่ได้อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข
Download
|