งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความหมาย ลักษณะ และประเภทของคนพาลในพระสุตตันตปิฎก เพื่อศึกษาคนพาลในพระสุตตันตปิฎก และเพื่อศึกษาผลกระทบจากการคบคนพาล โดยนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า
คนพาล หมายถึง คนที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เป็นปกติ กล่าวคือ บุคคลผู้เป็นอยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจเข้าออกไม่เป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นคนโง่ไม่รู้จักดีชั่วบาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์เป็นผู้ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นในสังคมได้แม้ในภพนี้และในภพหน้า ลักษณะคนพาล จะพึงทราบด้วยอำนาจทุจริตทั้ง ๓ ประการ คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต คนพาลในโลกนี้ย่อมเป็นผู้คิดแต่เรื่องที่ชั่ว พูดแต่คำพูดชั่ว และทำแต่กรรมที่ชั่ว ประเภทของคนพาล ประกอบด้วยลักษณะภายนอกและลักษณะภายใน ลักษณะภายนอกของคนพาลนั้น หมายถึง บุคคลที่มีปกติประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ซึ่งอยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพหรือสถานที่ใดก็ตามย่อมชักนำให้คนอื่นเข้าสู่ภาวะความเป็นคนพาลและประสบภัยอันตรายได้ ส่วนลักษณะของพาลภายในนั้น ย่อมปรากฏโดยความเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาไม่รู้แจ้งในธรรมมีอริยสัจ ๔ เป็นต้น คนพาลในพระสุตตันตปิฎก ประกอบด้วย
คนพาลเพราะปัจจัยภายใน และพาลเพราะปัจจัยภายนอก ตัวอย่างคนพาลเพราะปัจจัยภายใน ได้แก่ พระเทวทัต นางจิญจมานวิกา คนพาลเพราะปัจจัยภายใน คือคนที่ประกอบด้วยอำนาจแห่งอวิชชาความหลงและอกุศลธรรมที่เป็นไปในอำนาจของโลภะโทสะโมหะ มีพระเจ้าสุปปพุทธะ นันทมานพ และโกกาลิกภิกษุ เป็นต้น คนพาลเพราะปัจจัยภายนอก คือ การเข้าไปคบหาอยู่ร่วมกับคนชั่ว เพราะการคบคนเช่นใดย่อมเป็นเหมือนคนเช่นนั้น ในตัวอย่างนี้ คือพระองคุลีมาลและพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นต้น
ผลกระทบจากการคบคนพาล ปรากฏต่อบุคคลผู้คบหาโดยความเป็นส่วนตัว ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาทั้งด้านนามธรรมและรูปธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคลเสื่อมจากความดี กุศลธรรมลาภสักการะสุขและสุคติตลอดถึงพระนิพพาน ซึ่งผลกระทบจากการคบคนพาลดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมที่บุคคลจะพึงได้รับโดยส่วนเดียว เนื่องจากการคบหาสมาคมกับคนพาลเป็นเหตุและส่งผลให้ได้รับความเสียหายโดยส่วนเดียว อันกระทบต่อสถานภาพของบุคคลในหลาย ๆ ด้านดังกล่าวมา
Download |