หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิพัฒน์ อตฺตเปโม (เอี่ยมเปรมจิต)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักกรรมและการให้ผลของกรรมในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระวิพัฒน์ อตฺตเปโม (เอี่ยมเปรมจิต) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร.
  ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

ในการศึกษาวิจัยเรื่องกรรมในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ว่าเพื่อได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกรรมและการให้ผลกรรมในพระไตรปิฎก ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท และอิทธิพลเรื่องกรรมในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทที่มีต่อสังคมไทย

ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น กรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา  และสามารถจำแนกกรรมออกไปตามรูปแบบได้หลายรูปแบบ คือ (๑) จำแนกตามเวลาที่เกิด (๒) จำแนกตามลักษณะทางที่ทำให้เกิดกรรม (๓) จำแนกตามลักษณะการให้ผล (๔) จำแนกตามลักษณะอาการแสดงออก (๕) จำแนกตามคุณภาพของกรรม

ในคัมภีร์อรรถกถามีการจำแนกกรรม คือ (๑) จำแนกตามเวลาที่ให้ผล มี ๔ ประเภท ได้แก่ กรรมให้ผลในปัจจุบัน กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า กรรมให้ผลในภพต่อ ๆ ไป และกรรมเลิกให้ผล (๒) จำแนกตามการให้ผลตามหน้าที่ มี ๔ ประเภท ได้แก่ กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด กรรทที่เข้าช่วยสนับสนุน กรรมที่บีบคั้นกรรมอื่นให้ทุเลาลง และกรรมตัดรอนกรรมอื่นให้ขาดไป และ (๓) จำแนกตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล มี ๔ ประเภท ได้แก่ กรรมหนัก กรรมที่ทำมามาก กรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย และกรรมสักว่าทำ กรรมยังมีความสัมพันธ์กับสังสารวัฏและปฏิจจสมุปบาท และหลักอริยสัจ ๔ ในฐานะที่เป็นผล คือทำให้ต้องเสวยกรรมและเวียนว่ายตายเกิด จึงทำให้เกิดทุกข์

พระอรรถกถาจารย์ให้ความสำคัญในการศึกษาคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทว่าเพื่ออธิบายความพระคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้กับผู้ที่กำลังศึกษาคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทนี้ มีตัวอย่างของการให้ผลของกรรมที่สามารถยกมาศึกษาได้ ๘๖ ตัวอย่างด้วยกัน และสามารถวิเคราะห์จำแนกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสงเคราะห์เข้ากับหลักกรรมทางพระพุทธศาสนาได้หลายกรณี นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกการให้ผลของกรรมที่มีส่วนสัมพันธ์กับเวลาให้ผลของกรรมซึ่งมีทั้งให้ผลในชาตินั้น และมีทั้งให้ผลแบบข้ามภพข้ามชาติ การอธิบายเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้าจะมีปรากฏอย่างเห็นได้ชัดในพระคาถา ส่วนพระอรรถกถาจารย์ใช้วิธีการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นประกอบ

นอกจากนี้ เรื่องกรรมที่ปรากฏในอรรถกถาธรรมบทยังมีอิทธิพลต่อคนในสังคมไทยหลายด้าน เช่น (๑) ด้านวิถีชีวิต เช่นวิถีชีวิตส่วนปัจเจกบุคคล และส่วนสังคม (๒) ด้านศิลปวัฒนธรรม เช่นงานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรม และงานจิตรกรรม (๓) ด้านการปฏิบัติธรรม และ(๔) ผลงานทางด้านวรรณกรรม ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของคนในสังคมเพื่อให้อยู่ในหลักศีลธรรมอันดีงาม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕