การศึกษาวิเคราะห์การเมืองการปกครองในคัมภีร์พระพุทธศาสนานี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑)เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองรัฐในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการบริหารรัฐกิจในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาวิธีประยุกต์รูปแบบและวิธีการบริหารรัฐกิจมาใช้ในสังคมไทย
ผลการวิจัย พบว่า “การเมืองการปกครอง” หมายถึง การปกครองดูแลแผ่นดินที่เป็นอาณาเขตรัฐของตน รวมถึงการดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาราษฎร์ที่อาศัยอยู่ภายในแผ่นดิน ซึ่งจะเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองได้จากบริบทต่าง ๆ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามี ๓ บริบท คือ (๑)บริบททางการเมือง (๒)บริบททางสังคม และ (๓)บริบททางเศรษฐกิจ โดยบริบททางการเมืองนั้นมีทั้งความหมายของรัฐ การกำเนิดและวิวัฒนาการของรัฐ ความสำคัญของรัฐ ความสัมพันธ์ภายในรัฐ สงครามระหว่างแคว้น อำนาจในการปกครอง ความหมายของอธิปไตย และผู้ปกครอง มีโครงสร้างทางสังคมที่เป็นนักรบนักบวชและสามัญชนจนในที่สุดกลายมาเป็นระบบวรรณะที่มีกษัตริย์เป็นชนชั้นปกครอง สภาพเศรษฐกิจสมัยพุทธกาล เป็นการผสมผสานระหว่างการเลี้ยงสัตว์ และกสิกรรมเป็นหลักหลักธรรมที่ใช้ในการปกครองเหมาะสมกับการเป็นอยู่ในสมัยนั้น เช่นหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ จักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ สังคหวัตถุ ๔ ประการ อคติ ๔ ประการใช้สำหรับชนชั้นผู้นำหลักธรรมที่ใช้และประพฤติร่วมกัน ทั้งชนชั้นผู้ปกครอง ผู้สนองงาน ข้าราชบริพารและประชาราษฎร์ เช่น ทิศ ๖ และ จริต ๖
รูปแบบการบริหารรัฐกิจในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ คือ (๑) แบบราชาธิปไตย และ (๒) แบบสามัคคีธรรม ซึ่งมี ๓ ประเด็น คือ (๑) ความหมาย (๒) อธิปไตย และ (๓) หลักการปกครอง โดยการปกครองแบบราชาธิปไตยนี้เป็นระบบการเมืองการปกครองของไทยในอดีต เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” พระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ เมืองที่เป็นศูนย์กลางในปกครองในสมัยพุทธกาลมี ๔ รัฐ ได้แก่ มคธ โกศลวังสะ และอวันตี การปกครองแบบสามัคคีธรรม ปัจจุบันเราเรียกว่า “ประชาธิปไตย” คือ รัฐวัชชี
วิธีการบริหารรัฐกิจในคัมภีร์พระพุทธศาสนามี ๒ วิธี คือ (๑) วิธีการบริหารรัฐกิจ
ในส่วนข้าราชบริพารและ (๒) วิธีการบริหารรัฐกิจในส่วนประชาราษฎร์ ทั้งส่วนคฤหัสถ์
(ที่มิใช่ข้าราชบริพาร) และส่วนสมณสงฆ์ ซึ่งมี ๔ ประเด็น คือ (๑) ความหมาย (๒) การได้รับตำแหน่งหรือการแบ่งกลุ่มการปกครอง (๓) บทบาทและหน้าที่ และ (๔) คุณธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
สำหรับการประยุกต์รูปแบบและวิธีการบริหารรัฐกิจมาใช้ในสังคมปัจจุบัน เช่น พระราชาทรงให้ความสำคัญแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ในปัจจุบัน เช่น ทางคณะรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและ ปรึกษาปัญหากับคณะสงฆ์ การประยุกต์หลักธรรมในการบริหารรัฐกิจแบบสามัคคีธรรมของแคว้นวัชชีมาใช้ในระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
Download |