วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ เพื่อศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของผญาสุภาษิต เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผญาสุภาษิตเปรียบเทียบกับพุทธศาสนสุภาษิต และเพื่อศึกษาสังเคราะห์ผญาสุภาษิตลงในพุทธศาสนสุภาษิต โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ จากการศึกษาพบว่า ผญาคือคำพูดสุภาษิตที่ปราชญ์ชาวอีสานแต่งประพันธ์ขึ้นมาเพื่อเป็นคติสอนบุคคลให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ โดยได้มาจากการแต่งของนักปราชญ์และจากวรรณกรรมพื้นบ้านของอีสาน ผญาแบ่งทางกายภาพออกเป็น ๒ จำพวกใหญ่ๆ คือ (๑) ผญาเครือ คือ ผญาประกอบด้วยประโยคยาว (๒) ผญาก้อม คือ ผญาที่ประกอบด้วยคำสั้นๆ แต่ไม่ว่าผญาจะประกอบด้วยประโยคยาวหรือคำพูดสั้นๆ แต่ก็พูดถึงเนื้อหา ๓ เรื่อง คือ สุภาษิต, การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว และปริศนาภาษิต ซึ่งเป็นคำที่มีความจริงซ่อนเร้นอยู่
ผญาสุภาษิตที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิตมีด้วยกัน ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านความประพฤติกับบุคคล เช่น การศึกษา ด้านสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล เช่น ทิศ ๖ การคบมิตร ด้านสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับธรรมชาติ เช่น กิเลสของคนกับธรรมชาติ และด้านสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องบุญกิริยาวัตถุ บาป ความประมาทและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต เบญจขันธ์ เป็นต้น
พุทธศาสนสุภาษิตมีอยู่ด้วยกันหลายหมวด แต่ในการสงเคราะห์กับผญาภาษิต ผู้วิจัย ได้เลือกมาเพียง ๑๓ หมวด ได้แก่ หมวดตน หมวดบุคคล หมวดกรรมและการงาน หมวดประมาทและไม่ประมาท หมวดบุญ-บาป หมวดการคบหา หมวดปัญญา หมวดสุขและทุกข์ หมวดทาน หมวดการศีล หมวดความเพียร หมวดความตาย และหมวดเบ็ดเตล็ด (เรื่องทั่วไป) โดยจุดประสงค์ที่สังเคราะห์เข้าไว้เป็นหมวดๆ เหมือนกัน เพราะว่าต้องการให้ทราบว่า ผญาสุภาษิต สามารถที่จะอนุโลมหรือสังเคราะห์เข้าเป็นหมวดหมู่ลงในพุทธศาสนสุภาษิตในแต่ละหมวด โดยมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันบ้าง ตรงบ้าง เพื่อเป็นคติสอนบุคคลให้ประพฤติดีตรงตามสุภาษิตที่ยกมากล่าวนั้น
Download |