วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญจอันตรธานในพระพุทธศาสนา
เถรวาท ศึกษาปัญจอันตรธานในสังคมไทย และศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญจอันตรธานในสังคมไทย ผลการวิจัยพบว่า
ปัญจอันตรธานในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงสาเหตุของการอันตรธานว่ามาจากสาเหตุต่างๆ เช่น พระพุทธเจ้าบางพระองค์ไม่แสดงธรรมโดยพิสดาร ไม่มีการบัญญัติสิกขาบท ไม่แสดงปาติโมกข์ สัทธรรมปฏิรูป โมฆบุรุษ ความไม่เคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ในสิกขา ในสมาธิ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ความประมาท ความเกียจคร้าน ความมักมาก ความไม่สันโดษ อโยนิโยมนสิการ ความไม่มีสัมปชัญญะ เป็นต้น ส่วนพระสัทธรรมจะดำรงอยู่ได้นานก็ด้วยนัยตรงกันข้ามนั้น ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวถึงอันตรธาน ๕ อย่าง คือ ปริยัติอันตรธาน ปฏิบัติอันตรธาน ปฏิเวธอันตรธาน ลิงคอันตรธาน และธาตุอันตรธาน โดยเป็นการอธิบายความ ขยายความของอันตรธานในแต่ละอย่าง และลำดับของการเกิดอันตรธานขึ้น ในตำราพระพุทธศาสนาอาศัยคัมภีร์อรรถกถามาแต่งอธิบาย ขยายความ ความสัมพันธ์กันของปัญจอันตรธาน อันตรธานในแต่ละอย่างจะเป็นปัจจัยให้แก่กันและกันเหมือนดังหลักปฏิจจสมุปบาท
ปัญจอันตรธานในสังคมไทย คติความเชื่อปัญจอันตรธานตามที่ปรากฏในสังคมไทย ปรากฏในการเทศน์มหาชาติ การสร้างพระเจดีย์ การสร้างพระเครื่อง และการสร้างพระพุทธปฏิมากร ส่วนสถานการณ์ของปัญจอันตรธานในสังคมไทยที่ปรากฏ คือปริยัติอันตรธาน ปฏิบัติอันตรธาน และลิงคอันตรธาน ส่วนปฏิเวธอันตรธาน (ผลของการปฏิบัติ) และธาตุอันตรธานนั้นยังไม่ปรากฏในสังคมไทย
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญจอันตรธานในสังคมไทยนั้น ต้องอาศัยวิธีการต่างๆ เช่น ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏก (การแสดงธรรมโดยพิสดาร การบัญญัติสิกขาบท การแสดงปาติโมกข์ ฯลฯ) รวมถึงการส่งเสริมการเรียนการสอนพุทธบริษัท การส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การอุปถัมภ์พระภิกษุสามเณร และการทำนุบำรุงพระเจดีย์ เป็นต้น ประโยชน์ของการรู้แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญจอันตรธานในสังคมไทย คือพุทธศาสนิกชนจะได้ช่วยกันไม่ให้เกิดอันตรธานขึ้นไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ ก็ตาม และแก้ไขอันตรธานที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อประโยชน์ของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยตลอดถึงชาวโลกสืบไป
Download |