หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายสุเทพ พรมเลิศ
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์มหาวงศ์ (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นายสุเทพ พรมเลิศ ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร.
  พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร.
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์มหาวงศ์ คุณค่าของคัมภีร์และอิทธิพลของคัมภีร์มหาวงศ์             ผลการศึกษาพบว่า 

คัมภีร์มหาวงศ์ได้รวบรวมเนื้อเรื่องมาจากคัมภีร์พุทธศาสนา ตำนานและเรื่องที่เล่าสืบกันมา  เช่น  คัมภีร์ทีปวงศ์  คัมภีร์มหาวงศ์เดิม  และพงศาวดารลังกา เป็นต้น  มีลักษณะคำประพันธ์เป็นแบบปัชชะคือร้อยกรอง โดยมีคาถาประเภทปัฐยาวัตรมากที่สุด มีรูปแบบในการแต่งโดยใช้คาถาจำนวน  ๑๙  ชนิด คือ  ปัฐยาวัตร   วสันตดิลก  สัทธรา  อินทรวิเชียร  อุเปนทรวิเชียร  อินทรวงศ์  วังสัฏฐะ โอปัจฉันทสกะ   อุปชาติ(กิตติ  มาลา  อัททา  ภัททา  รามา  อิทธิ  และพุทธิ) มาลินี  โตฏกะ  มันทักกันตา  มัตตมยูระ ปหัสสิณี รุจิรา  เวสสเทวี สัททูลวิกกีฬิตะ โทธกะ  อปรวัตตะ  ลักษณะทางไวยากรณ์พบว่า  ตอนต้นที่แต่งโดยพระมหานามมีลักษณะการใช้ไวยากรณ์บาลีแบบเคร่งครัด  แต่เนื้อหาส่วนที่แต่งเติมในภายหลังโดยเฉพาะสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุที่    อาจได้รับอิทธิพลจากไวยากรณ์สันสกฤตบ้าง  คัมภีร์มหาวงศ์ประกอบด้วยอลังการทั้งสัททาลังการและอัตถาลังการตามที่มีความนิยมในยุคสมัยสอดคล้องกับคัมภีร์สุโพธาลังการที่แต่งขึ้นในยุคสมัยใกล้เคียงกัน และมีการใช้และการบัญญัติศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวกับชื่อของบุคคลและสถานที่เป็นภาษาบาลีโดยเลียนเสียงเดิมบ้าง  ใช้ศัพท์บาลีที่สร้างขึ้นโดยแปลจากความหมายของคำเดิมบ้าง ศัพท์บาลีผสมกับคำในภาษาอื่นและเขียนรูปภาษาบาลีบ้าง

          คัมภีร์มหาวงศ์ให้คุณค่าทั้งด้านวรรณคดี  คุณค่าด้านสังคม  คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ คุณค่าด้านการเมืองการปกครอง  และคุณค่าด้านประเทืองสติปัญญา

          คัมภีร์มหาวงศ์มีอิทธิพลต่อคัมภีร์วรรณคดีบาลีที่แต่งในประเทศไทยหลายคัมภีร์  ได้แก่  คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์    คัมภีร์จักกวาฬทีปนี  คัมภีร์มังคลัตถทีปนี  คัมภีร์สังคีติยวงศ์  คัมภีร์ปฐมสมโพธิ  โดยเนื้อหาที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ  การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป  สำหรับอิทธิพลของคัมภีร์มหาวงศ์ต่อประเพณีไทยได้แก่การมีอิทธิพลต่อประเพณีวันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา  ประเพณีการสวดมนต์พระปริตรและการสวดพระอภิธรรม  ประเพณีการบูชาพระสถูปเจดีย์  ประเพณีการบูชารอยพระพุทธบาท  ส่วนอิทธิพลของคัมภีร์มหาวงศ์ต่อวัฒนธรรมไทยนั้นพบว่า  ด้านสถาปัตยกรรมไทย คัมภีร์มหาวงศ์มีอิทธิพลต่อการสร้างวัดหลายแห่ง เช่น วัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด  วัดช้างล้อม  วัดมเหยงค์  วัดมหาธาตุ  ด้านประติมากรรมไทยได้รับอิทธิพลเรื่องการสร้างพระพุทธรูปโดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่  ๑๖ ๒๐  และด้านจิตรกรรมไทยได้รับอิทธิพลเรื่องจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติ โดยเฉพาะการวางองค์ประกอบของจิตรกรรมฝาผนัง

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕