วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องกัลยาณธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมสำหรับการดำรงชีวิตของผู้ที่มีกัลยาณธรรม ๓)เพื่อประยุกต์หลักกัลยาณธรรมในการพัฒนาบุคคลและสังคม
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำมาเรียบเรียงนำเสนอในเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า กัลยาณธรรม หมายถึง ธรรมอันดีอันงามและเป็นหลักปฏิบัติของกัลยาณบุคคล ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นธรรมที่แสดงคุณค่าของบุคคลที่แสดงออกมาทางกาย วาจา ใจที่ดี มีความสุจริต มีความเมตตา กรุณา และความประพฤติในสิ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญบุคคลผู้มีกัลยาณธรรมว่า เป็นผู้เสร็จธุระอยู่จบพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย การปฏิบัติตนของกัลยาณบุคคลนั้นประกอบด้วยการปฏิบัติใน ๓ ขั้น ได้แก่ ๑) การปฏิบัติขั้นต้น คือ การรักษาศีล ๒) การปฏิบัติขั้นกลาง คือ การบำเพ็ญจิตให้สงบ และ ๓) การปฏิบัติขั้นสูงสุด คือ การปฏิบัติขั้นวิปัสสนากรรมฐานเพื่อทำลายกองทุกข์ทั้งมวล
หลักธรรมสำหรับดำรงชีวิตของผู้ที่มีกัลยาณธรรมนั้น พบว่า หลักธรรมเหล่านี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญใน ๒ ส่วน คือ ๑)หลักธรรมในการครองตน เช่น ไตรสิกขา อริยสัจ ๔ เบญจศีล-เบญจธรรม และหลักสัปปุริสธรรม ๗ ซึ่งเป็นหลักธรรมในการพัฒนากาย วาจา ใจ ของกัลยาณบุคคล และ ๒) หลักธรรมในการพัฒนาสังคมของกัลยาณบุคคล ได้แก่ ขันติ-โสรัจจะ สังคหวัตถุ ๔ พรหมวิหาร ๔ อปริหานิยธรรม ๗ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ทำให้กัลยาณบุคคลได้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคม
สำหรับการประยุกต์ใช้หลักกัลยาณธรรมในสังคมไทยนั้น สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิตของบุคคล เช่น มีความมั่นใจในความดี ประสบผลสำเร็จ ไม่หลงโลก มีความเมตตา กรุณา นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในครอบครัว เช่น การจัดการเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวตามหลักทิศ ๖ เป็นต้น บทบาทของผู้ที่มีกัลยาณธรรมในพระพุทธศาสนานั้น พบว่า มีบทบาทในด้านการเผยแผ่พุทธธรรม การทำนุบำรุงด้านพระพุทธศาสนา การแก้ไขและป้องกันภัยอันตรายที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า การยึดหลักกัลยาณธรรมในการดำรงชีวิตจะช่วยแก้ปัญหาส่วนบุคคล ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาบุคคลไปสู่การมีคุณธรรม จริยธรรม และจะทำให้เกิดความสงบสุขในสังคมได้อย่างทั่วถึง
Download |