งานวิจัยนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการของภิกษุและภิกษุณีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ศึกษาโครงสร้างการบริหารจัดการของภิกษุและภิกษุณีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุและภิกษุณีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งเน้นการวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) ใช้ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) ได้แก่ พระไตรปิฎก ส่วนข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Source) ได้แก่ พุทธธรรม รวมทั้งเอกสารหรือตำราทางวิชาการอื่น ๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยพบว่า การบวชเป็นภิกษุในต้นพุทธกาลในพระพุทธศาสนานั้น มี ๓ รูปแบบ คือ ๑. พระพุทธเจ้าประทานการบวชด้วยพระองค์เอง เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ๒. พระพุทธเจ้าประทานการบวชแบบ “ติสรณคมณูปสัมปทา” คือผู้ขอบวชกล่าวสมาทานถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และ ๓. พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในการบวชด้วยการให้สวด “ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา” ซึ่งการบวชแบบที่ ๓ นี้ ได้สืบเนื่องเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการบวชเป็นภิกษุณีนั้น โดยที่ผู้หญิงมีภาวะเพศและบริบทสังคมในสมัยนั้นเป็นข้อจำกัด พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติครุธรรม ๘ แก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวชเป็นภิกษุณีรูปแรก แล้วพัฒนาการการบวชภิกษุณีเป็นการบวชด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว และอัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา บวชจากสงฆ์สองฝ่าย หลังจากบวชแล้วต้องรักษาครุธรรม ๘ ข้อ ตลอดชีวิต ส่วนขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณีนั้น ก่อนบวชเป็นภิกษุณีต้องบวชเป็นสามเณรีและเมื่ออายุครบ ๑๘ ต้องบวชเป็นสิกขมานา หรืออายุ ๒๐ ปีหรือผ่านการมีครอบครัวมาแล้วบวชเป็นสิกขมานาได้เลย ศึกษาในธรรม ๖ ข้อข้างต้นของศีล ๑๐ มิให้ขาดตลอด ๒ ปี ถ้าขาดต้องเริ่มต้นใหม่ และเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่พักอาศัย ไม่เพียงพอ ทำให้ปวัตตินีสามารถบวชภิกษุณีได้ ๒ ปีต่อ ๑ รูป เท่านั้น จึงทำให้การขยายตัวของภิกษุณีไม่กว้างขวางเท่าภิกษุ จึงเป็นเหตุให้ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทขาดสูญไปแล้ว เหลือแต่ภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวจึงไม่สามารถบวชกุลสตรีให้เป็นภิกษุณีได้ในปัจจุบัน
โครงสร้างการบริหารจัดการของพระภิกษุนั้น ในสมัยพุทธกาลยึดหลักพระธรรมวินัยในการบริหารจัดการ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน มีการบริหารจัดการแบ่งออกเป็นหมู่คณะตามพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก และผู้ที่ได้รับหน้าที่พิเศษจากคณะสงฆ์ เช่น เจ้าอธิการแห่งจีวร เจ้าอธิการแห่งอาหาร เป็นต้น ส่วนภิกษุณีมีการบริหารจัดการเช่นเดียวกับภิกษุ เว้นแต่หน้าที่พิเศษที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเพื่อเป็นการอนุเคราะห์แก่ภิกษุณีด้วยกัน ถือเป็นหน้าที่เฉพาะกาลที่เกิดขึ้นเฉพาะภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่ภิกษุสงฆ์
ความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุและภิกษุณีโดยความเคารพและเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ภิกษุณีต้องกราบไหว้ภิกษุแม้ผู้บวชในวันนั้น ภิกษุณีต้องอยู่ในความดูแลของภิกษุ ภิกษุณีเกิดหลังภิกษุเปรียบเสมือนน้องสาว นอกจากนั้น ภิกษุและภิกษุณียังมีความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ เช่น ในด้านการปกครอง การเกื้อกูลปัจจัย ๔ การศึกษาตามหลักไตรสิกขา การทำสังฆกรรม การเผยแผ่ ตลอดทั้งการเกื้อกูลอุบาสกอุบาสิกา โดยภิกษุและภิกษุณีให้ความเคารพพระพุทธเจ้า มีพระธรรมเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้ตนเองพ้นทุกข์ และยังช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นทุกข์ตาม และมีพระวินัยเป็นกฎเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติตน อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความสงบสุขทั้งต่อตนเองและยังเป็นประโยชน์สุขให้แก่สังคมโดยรวม
Download |