วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิวัฒนาการ การบวชในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการบวชในสังคมไทยปัจจุบัน ๓) เพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการบวชในสังคมไทย
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เป็นทั้งการวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) และการวิจัยภาคสนามโดยวิธีการสัมภาษณ์ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน ๓๘ รูป/คน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า การบวชในพระพุทธศาสนาหมายถึง การฝึกฝนหรือการพัฒนาตนด้วยการนำพาตนให้พ้นไปจากภาวะของความเป็นฆราวาส ดำเนินชีวิตที่ทวนกระแสของกิเลส พร้อมกันนั้นก็มีการฝึกฝนอบรมตนเองทางกาย วาจาและใจให้สูงยิ่งขึ้นไปจนถึงภาวะของความพ้นทุกข์ การบวชมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ ๓ สมัย กล่าวคือ สมัยต้นพุทธกาลเป็นการบวชด้วยพระองค์เอง เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” เมื่อมีกุลบุตรเข้ามาขอบวชมากขึ้น ภิกษุไม่สามารถนำกุลบุตรไปบวชกับพระพุทธเจ้าเองได้ พระพุทธองค์จึงทรงประทานให้ถึง ไตรสรณคมน์เป็นการบวชที่เรียกว่า “ติสรณคมณูปสัมปทา” ต่อมา มีคนจำนวนมากจากหลายท้องที่มาขอเข้าบวช พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในการรับบวช เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา” การบวชลักษณะนี้ พระสงฆ์ได้ยึดถือเป็นแบบแผนจนถึงปัจจุบัน โดยมีกระบวนการกลั่นกรองผู้บวชตามพระธรรมวินัย
ผลการศึกษา ในด้านผู้บวช พบว่า ผู้บวชมีวัตถุประสงค์ในการบวชแตกต่างกัน และผู้บวชไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบวช ในด้านผู้รับบวช พบว่า ปัญหากระบวนการกลั่นกรองผู้บวชของพระอุปัชฌาย์มีความหละหลวม เมื่อบวชเข้ามาแล้วขาดอาจารย์ผู้ให้การแนะนำอบรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ เป็นเหตุให้ผู้บวชไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการบวชอย่างแท้จริงได้
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาการบวชในสังคมไทย สรุปได้ดังนี้ ๑. ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ๒. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มาขอบวชอย่างละเอียด ๓. จัดให้มีการศึกษาอบรมทั้งก่อนบวชและหลังบวชโดยมีหลักสูตร รูปแบบ และวิธีการอบรม อย่างชัดเจนเป็นแนวเดียวกัน ๔. พัฒนาสถานที่ และบุคลากรทางพระศาสนาให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า ดังพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
Download |