วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์ หลัก ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องไฟในทัศนะ วิทยาศาสตร์ ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องไฟในทัศนะพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาเรื่องไฟในสิ่งมีชีวิต และไฟในเชิงนามธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท
ผลวิจัยพบว่า
๑. ไฟในทัศนะวิทยาศาสตร์ หมายถึง ปฏิกิริยารูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากการเติมออกซิเจนลงในสารหนึ่ง แล้วทำให้เกิดความร้อน แสงสว่าง และสภาพการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ องค์ประกอบของไฟมีอยู่ ๓ อย่าง คือ เชื้อเพลิง อากาศ ความร้อน ไฟในทางวิทยาศาสตร์นั้น สามารถแบ่งคุณสมบัติออกเป็น ๒ อย่าง คือ คุณสมบัติของไฟทางกายภาพ และทางเคมี คุณสมบัติ หรือคุณประโยชน์ของไฟที่มีต่อมนุษย์ก็มีอยู่มากมาย เช่น ในการดำรงชีวิต หุงอาหาร ประกอบธุรกิจสุขภาพอนามัย
๒. แนวคิดเรื่องไฟในทัศนะพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นแนวคิด ๒ ประการ คือ ไฟในสิ่งมีชีวิต และไฟในเชิงนามธรรม ที่นำมาเปรียบเทียบเป็นหลักคิดในการสอนธรรมะ ลักษณะไฟหนึ่ง หมายถึง ไฟภายนอก คือ ไฟเป็นองค์ประกอบของทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตครอบคลุมถึง โลก จักรวาลและนิพพาน โดยมีทัศนะไว้ว่า ไฟ (เตโชธาตุ) ทำธาตุอีก ๓ (ดิน น้ำ ลม) ให้ร้อน อบอุ่น หรือให้เข้มแข็ง
๓. ไฟในสิ่งมีชีวิตตามแนวพุทธศาสนาเถรวาท คือ องค์ประกอบหนึ่งที่ก่อให้เกิดเป็นสิ่งมีชีวิต ๒๖ ภพภูมิ ส่วนไฟในเชิงนามธรรม คือ องค์ประกอบหลักในการนำมาเป็นเครื่องมือสอนธรรมะ ในสองลักษณะ คือ เป็นไฟที่เปรียบเสมือนความชั่วที่ต้องทำลายให้หมดสิ้น อีกลักษณะหนึ่ง คือ ไฟที่เปรียบเสมือนความดีที่ต้องปฏิบัติ ได้แก่ อัคคี ๓ กอง คือ ไฟที่ควรเคารพ (บิดามารดา) ไฟที่ควรบูชา (สมณพราหมณ์) และไฟที่ควรปกครอง (บุตร ภรรยา)
|