วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อหลักความเชื่อในพระพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา ๒) เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่มีต่อพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และ ๓) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะและพฤติกรรมของชาวพุทธในสังคมไทยที่มีต่อพระพุทธรูป โดยทำการจัดเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม จำนวน ๒๐๕ ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาค่าความสัมพันธ์แบบ T–test และ F–test และ การหาค่าสหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล (Point Biserial Correlation) ในการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาในพระอุโบสถพระเจ้าเก้าตื้อ จำนวน ๑๘๓ รูป/คน และการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๑๑ คน
จากการศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อหลักความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาและตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนาพบว่า ความเชื่อศรัทธาในพระพุทธรูปตามหลักพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หลักความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) หลังจากนั้น จึงมีการสร้างปฏิมากรรมลอยตัวอุทิศให้พระพุทธเจ้า เรียกว่า อุเทสิกเจดีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเคารพกราบไหว้ในฐานะเป็นพุทธานุสสติ คือ เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาในดินแดนล้านนา ซึ่งมีความเชื่อดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว คือ ความเชื่อในเรื่องวิญญาณนิยม ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา และความเชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น กลายเป็นความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป โดยมีการสร้างเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ หรือ เชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป ซึ่งสามารถดลบันดาลพรต่าง ๆ ได้ เช่นเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ตามที่ตนนับถือ ซึ่งจากผลการศึกษาความเชื่อของชาวพุทธที่มีต่อพระพุทธรูป พบว่า พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนามากที่สุด และก็มีความเชื่อในความเชื่อดั้งเดิมมากเช่นเดียวกัน คือ มีความเชื่อในกฎแห่งกรรม (กัมมสัทธา) และเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) แต่ก็มีความเชื่อในเรื่องวิญญาณ (วิญญาณนิยม) และอำนาจเหนือธรรมชาติ (ธรรมชาตินิยม) ด้วยเช่นกัน
จากผลการศึกษาพฤติกรรมที่มีต่อพระพุทธรูป พบว่า โดยส่วนใหญ่พุทธศาสนิกชนมีพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อพระพุทธรูปด้วยการกราบไหว้บูชา การบริจาคปัจจัยในตู้บริจาค แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่มีพฤติกรรมปฏิบัติในความเชื่อดั้งเดิม คือ การอ้อนวอนขอพร และมีความเชื่อในเรื่องชะตาชีวิตด้วยการเสี่ยงเซียมซี (เป็นคำทับศัพท์ภาษาจีนแต้จิ๋วหมายถึง ใบทำนายโชคชะตาที่ต้องสั่นไม้ติ้วเสี่ยงทาย) สอดคล้องกับผลการสังเกต ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อกราบไหว้บูชา
จากผลการศึกษาข้อเสนอแนะและพฤติกรรมของชาวพุทธ พบว่า พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มีความเชื่อตามหลักศรัทธาของพระพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม คือ เข้ามากราบไหว้บูชาพระพุทธรูป แล้วทำการสวดมนต์ขอพร และนั่งสมาธิ สอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ คือ เข้ามากราบไหว้บูชาและนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา มากกว่าการปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิม เนื่องจากมีเหตุผลเดียวกัน คือ การเข้ามาสักการะกราบไหว้เพื่อความสงบสุขทางจิตใจ และได้มีข้อเสนอแนะว่า คณะสงฆ์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีการสื่อสารความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเชื่อและการปฏิบัติตัวต่อพระพุทธรูป รวมไปถึงการจัดสถานที่และกิจกรรมในศาสนสถานที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนหลักศรัทธาที่ถูกต้อง
Download |