งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาของคณะสงฆ์ในราชอาณาจักรกัมพูชา” มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย ๓ ประการคือ ๑) ศึกษาพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา ๒) ศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศกัมพูชา ๓) ศึกษาสภาพปัญหาจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศกัมพูชา ผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ คือเน้นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และการวิจัยเชิงภาคสนาม (Field Research) คือราชอาณาจักรกัมพูชา ผลการวิจัยพบว่า
กัมพูชาได้รับพระพุทธศาสนานับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งการเข้ามาของพระพุทธศาสนานั้นได้พัฒนามาทุกยุคสมัย แต่ละยุคสมัยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแตกต่างจากกันไปตามบริบทของสังคมนั้น ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมีความผูกพันทางการเมือง เมื่อบ้านเมืองมีเสถียรภาพ พระพุทธศาสนาได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนจากผู้นำประเทศ จนมีคาวามเจริญงกงาม แต่เมื่อบ้านเมืองประสบกับปัญหา ที่สำคัญคือทางการเมืองพระพุทธศาสนาก็ตกต่ำเสื่อมไปด้วย เนื่องจากพระสงฆ์ถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง
รูปแบบการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศกัมพูชายุคต้น ๆ ให้ความสำคัญด้านวิชาพระพุทธศาสนาอย่างเดียวคือทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรม แต่เมื่อมาถึงยุคกัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ได้พัฒนาเป็นรูปแบบและโครงสร้างการจัดการศึกษาค่อนข้างชัดเจน ที่สำคัญคือหลักสูตรโดยแบ่งเป็นสองด้าน คือด้านหนึ่งเป็นวิชาพระพุทธศาสนาและอีกด้านหนึ่งคือวิชาสมัยใหม่ จึงทำให้การจัดการศึกษาในระหว่างช่วงดังกล่าว มีความพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงที่กัมพูชาประสบกับปัญหาทางการเมือง ที่สำคัญคือในยุครัฐบาลลอนนอล และเขมรแดง การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ตกต่ำถึงขั้นขีดสุด เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับฟื้นฟูในรัฐบาลของเฮง สัมริน การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูมากพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่มั่งคงทางการเมือง อนึ่งถูกจำกัดอายุ ๕๐ ปีขึ้นไปของผู้ประสงค์บวชจากข้อบังคับของภาครัฐ
ปัจจุบันการศึกษาของคณะสงฆ์กัมพูชาได้พัฒนามาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนสามารถเปิดทำการเรียนการสอนถึงระดับอุดมศึกษา ขณะเดียวกัน การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์กัมพูชาก็ยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน เช่น ขาดการวางแผนนโยบายการจัดการศึกษายังให้เป็นเอกภาพระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณด้านการพัฒนา ฝึกอบรมและผลิตครูผู้สอน งบประมาณการสร้างอาคารเรียน งบประมาณอุปกรณ์การศึกษา ตลอดจนงบประมาณค่าตอบแทนครูผู้สอน การกำหนดหลักสูตรการศึกษาของสถาบันการศึกษาสงฆ์ยังไม่สอดคล้องกับการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน/สถานศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งส่งผลให้พระสงฆ์ต้องหันไปสนใจวิชาชีพมากกว่าวิชาพระพุทธศาสนา
download |