หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสมใจ ตันติวัฒน์
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์เทคนิคการให้คำปรึกษาด้วยพุทธวิธีสำหรับนักเรียน (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นางสมใจ ตันติวัฒน์ ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี, ผศ. ดร.
  ศ.ดร. กาญจนา เงารังษี
  ผศ.ดร.วรกฤต เถื่อนช้าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์เทคนิคการให้คำปรึกษาด้วยพุทธวิธีสำหรับนักเรียน    มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๓ ประการ คือ (๑) พุทธวิธีการให้คำปรึกษาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เทคนิคการให้คำปรึกษาแก่นักเรียนในสังคมไทยปัจจุบัน  และ        (๓) วิเคราะห์เทคนิคการให้คำปรึกษาด้วยพุทธวิธีมาใช้กับนักเรียน  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หนังสือและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำมาวิเคราะห์สรุปข้อมูลในเชิงพรรณนา  ผลการวิจัยพบว่า

๑.     พุทธวิธีการให้คำปรึกษาที่ปรากฎในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีวิธีการให้คำปรึกษาที่หลากหลาย และที่สำคัญมี ๒ วิธี ได้แก่ (๑) ตามหลักสมถกรรมฐาน คือมุ่งเน้นให้ผู้รับคำปรึกษาฝึกจิตให้มีความสงบ มีความเข้มแข็ง มีสมาธิในการเผชิญกับปัญหา ความทุกข์ที่ตนได้ประสบอยู่ด้วยปัญญา และ (๒) ตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน คือมุ่งให้ผู้รับคำปรึกษาได้พิจารณา ตามความเป็นจริง ฝึกฝนให้เกิดสติปัญญา และรู้เท่าทันความคิดของตัวเองตามหลักสัมมาทิฎฐิ ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจกิเลส

จะเห็นว่า การให้คำปรึกษาทั้ง ๒ วิธี มีจุดมุ่งหมายเดียวกันของการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ไม่แยกส่วนประกอบระหว่างกายกับใจ และเป็นไปตามลักษณะนิสัยความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยพระพุทธองค์ทรงใช้ให้คำปรึกษาตามจริต ๖ เป็นองค์ประกอบสำคัญ

๒.     เทคนิคการให้คำปรึกษาแก่นักเรียนในสังคมไทยปัจจุบัน  พบว่า หลักธรรมสำหรับนำมาใช้เพื่อพัฒนาปัญญาของนักเรียนให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องของการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะมีจิตสำนึกในหลักศีลธรรม อันเป็นบรรทัดฐานความดีงามของชาวพุทธ ซึ่งมีคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นทิศทางสำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย  วาจา  ใจ   โดยมีหลักอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นทฤษฎีการให้คำปรึกษาที่สำคัญเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาของมวลมนุษย์เกี่ยวข้องด้วยปัจจัย ๔ สำหรับยังอัตภาพร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ และต้องพัฒนาแบบองค์รวมระหว่างทางกายกับทางใจตามหลักภาวนา ๔ เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อนำไปสู่ผล คือ ความสุขของ มวลมนุษยชาติ

วิเคราะห์เทคนิคการให้คำปรึกษาด้วยพุทธวิธีมาใช้กับนักเรียน  พบว่า            ผู้ให้คำปรึกษานักเรียนประกอบด้วย พระสงฆ์ พ่อแม่ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ จะต้องปฎิบัติตนถูกต้องตามหลักปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะต้องปฎิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียนตามหลักทิศ ๖ เพื่อจะได้น้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษา      การประกอบอาชีพ และการคบหาสมาคมกับเพื่อน ก็ต้องไม่ผิดหลักศีลธรรม อันเป็นจริยธรรม    ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และเป็นตัวชีวัดความเจริญงอกงามทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ผ่านการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา เพื่อแก้ไขปัญหาของชีวิต และเพื่อเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ คือ มุ่งหวังประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ร่วมกัน            ทั้งสองฝ่ายก็ช่วยให้ก้าวหน้าไป และบรรลุประโยชน์ทั้งสามในที่สุด

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕