การศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความหมายของจิตว่างตามความหมาย หรือทรรศนะของท่านพุทธทาส ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารคำบรรยายในที่ต่าง ๆ โดยศึกษาถึงวิธีการที่นำพุทธธรรมนี้จากพระไตรปิฎกและการสอนแก่สาธารณชน อุปสรรคของการสอน และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจว่าจิตว่างนี้ เป็นธรรมะสำหรับพระอริยบุคคลเท่านั้น ส่วนปุถุชนควรศึกษาและปฏิบัติในเรื่องการทำบุญ เรื่องสวรรค์ก็เพียงพอแล้ว แต่ท่านพุทธทาสได้ย้ำว่า จิตว่างนี้มีความจำเป็นแก่ทุก ๆ คน ผลการศึกษาและวิจัยทำให้ทราบแนวความคิดของท่านพุทธทาสในเรื่องจิตว่างนี้ ท่านได้อธิบายไว้อย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม โดยเฉพาะการใช้คำจำกัดความสุญญตาว่า “จิตว่าง” นั้น คือ เป็นสภาพที่จิตว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวตน-ของตน เป็นความว่างจากทุกข์ ว่างจากกิเลสที่เป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ ว่างจากความรู้สึกว่ามีตัวเรา-ของเรา แนวคิดเช่นนี้มีความสอดคล้องกับหลักการเดิมที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ให้มีสติมองเห็นโลกตามความเป็นจริง โดยความเป็นของว่าง คือว่างจากความมีตัวเรา ของเรา เข้าใจต่อสิ่งทั้งปวงว่า ไม่ควรที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือของเรา ท่านพุทธทาสได้เสนอแนวคิดในการดำเนินชีวิตประจำวันให้มีชีวิตอยู่ด้วยความว่าง เช่น ทำความรู้สึกที่เป็นความว่างจากตัวเราของเราแล้ว ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ มีผลงานจากการทำงานก็ยกให้เป็นผลงานของโลก แก่ธรรมะหรือความว่าง การกินอาหารก็เพียงเพื่อบำรุงธาตุ คือร่างกายนี้แล้วจะมีแต่ความสงบเย็นเพราะการสิ้นทุกข์ สิ้นปัญหาโดยสิ้นเชิง