การศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลและคุณค่าของบุพเพสันนิวาสที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทและสังคมไทยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาเรื่องบุพเพสันนิวาสในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับบุพเพสันนิวาสในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลและคุณค่าของบุพเพสันนิวาสที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทและสังคมไทย
ผลการวิจัย พบว่า บุพเพสันนิวาส ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หมายถึง การเคยอยู่ร่วมกันในอดีตชาติ ในฐานะเป็นบิดามารดา บุตรธิดา ครูอาจารย์ศิษย์ สามีภรรยา ญาติมิตร นายบ่าว และสมณะคฤหัสถ์ บุพเพสันนิวาสมี ๖ ประเภท คือ (๑) บิดามารดากับบุตรธิดา (๒) ครูอาจารย์กับศิษย์ (๓) สามีกับภรรยา (๔) ญาติมิตรกับญาติมิตร (๕) นายกับบ่าว (๖) สมณะกับคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเป็นบุพเพสันนิวาสระหว่างพระพุทธเจ้ากับบุคคลต่างๆ ในอดีตชาติที่ปรากฏในชาดก
หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับบุพเพสันนิวาส เช่น ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่นำบุคคลผู้เกี่ยวข้องกันให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏหลายภพชาติ จนถึงหลักธรรมเช่น พรหมวิหาร ๔ และอิทธิบาท ๔ ที่นำให้เข้าถึงนิพพาน บุพเพสันนิวาสนั้น สังคมไทยเข้าใจด้านเดียวคือ เข้าใจว่าเป็นการได้อยู่ร่วมกันในอดีตชาติของสามีภรรยาหรือคู่ครอง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เบียดเบียนกัน
บุพเพสันนิวาสมีอิทธิพล ทางด้านเป็นต้นแบบวรรณกรรม ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาของพระพุทธโฆสาจารย์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมในสังคมไทย คุณค่าของบุพเพสันนิวาสในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มี ๕ ประการ คือ (๑) เครื่องมือพัฒนาตนเอง (๒) เครื่องมือพัฒนามนุษย์ (๓) เครื่องมือกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์ (๔) เป็นกฎแห่งกรรม (๕) เป็นหลักการสร้างบุพเพสันนิวาสใหม่เพื่อปรับปรุงบุพเพสันนิวาสเก่า คุณค่าของบุพเพสันนิวาสที่ปรากฏในสังคมไทยนั้น ส่วนมากจะมีคุณค่าในฐานะที่เป็นเพียงเครื่องมือในการกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์ และกฎแห่งกรรมเท่านั้น
download |