วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและความสำคัญของนิราศภูเขาทอง และ นิราศเมืองเพชร (๒) เพื่อวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง นิราศภูเขาทอง และ นิราศเมืองเพชร และ (๓) เพื่อสังเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรม เรื่อง นิราศภูเขาทอง และ นิราศเมืองเพชร มาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย
ผลการศึกษาพบว่า นิราศ เป็น เรื่องราวของกวี ที่พรรณนา ถึงการจากกันของคนรักเพื่อเดินทางไปในที่ต่าง ๆ เป็นต้น มักแต่งเป็นกลอนหรือโคลง เช่น นิราศนรินทร์ นิราศเมืองแกลง เป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีการแต่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังคงได้รับความนิยมแพร่หลายอยู่แม้ในสมัยปัจจุบัน การแต่งนิราศโดยทั่วไป อาจใช้รูปแบบของร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ได้ เพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ลักษณะคำประพันธ์ แต่อยู่ที่เนื้อหาและกระบวนการพรรณนามากกว่า
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่พบในนิราศภูเขาทองและนิราศเมืองเพชร มี ดังต่อไปนี้ คือหลักธรรมหมวด ไตรลักษณ์ หลักกรรม พรหมวิหารธรรม ๔ อธิษฐานธรรม ๔ สัมมาวาจา ธรรมทำให้งาม ๒ (ขันติ และ โสรัจจะ) การไม่คบคนพาล ศีล ๕ หรือ เบญจศีล โลกธรรม ๘ และความกตัญญูกตเวที
วรรณกรรมเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยสรุปได้ ๓ ด้าน ดังต่อไปนี้คือ (๑) การประยุกต์ใช้กับบุคคล วรรณกรรมก็คือผลงานทางด้านศิลปะที่มนุษย์ชื่นชอบ มนุษย์สร้างวรรณกรรมขึ้น เพื่อสนองความต้องการทางด้านจิตใจของตนและผู้อื่น และศิลปะเหล่านี้มีส่วนช่วยเติมเต็มด้านจิตใจให้แก่มนุษย์ (๒) การประยุกต์ใช้กับครอบครัว หากครอบครัวเริ่มที่จะอ่านหนังสือด้วยกัน เป็นแนวทางที่ง่ายในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ กับลูก เพราะผู้ปกครองจะได้คิดค้นวิธีการเล่นกับลูกมาใช้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัว และกระตุ้นพัฒนาการอย่างเป็นองค์รวม (๓) การประยุกต์ใช้กับสังคม วรรณกรรมนั้นถือเป็นกระจกแห่งยุคสมัย เนื่องจากสามารถสะท้อนภาพชีวิตของคนแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี เฉพาะหลักธรรม
เฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมทั้ง ๑๐ หมวดที่วิเคราะห์ได้จากนิราศภูเขาทองและนิราศเมืองเพชรนั้น ล้วนเกี่ยวเนื่องกับการนับถือพระพุทธศาสนาและผูกพันกับการดำเนินชีวิตของคนไทย สุนทรภู่จึงได้สอดแทรกหลักธรรมเหล่านี้ในกวีนิพนธ์ของท่าน ซึ่งทำให้บทกวีนิพนธ์ทุกเรื่องของท่านมีคติได้อรรถรสทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
download |