หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาโสภณ วิจิตฺตธมฺโม (มณีปัญญาพร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๖ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์หลักธรรมที่ปรากฏในพราหมณสังยุตในคัมภีร์สังยุตตนิกาย(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาโสภณ วิจิตฺตธมฺโม (มณีปัญญาพร) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร.
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์หลักธรรมที่ปรากฏในพราหมณสังยุต          มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาด้านเนื้อหาและโครงสร้างของ พราหมณสังยุต ( ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมที่ปรากฏในพราหมณสังยุต (๓) และเพื่อประยุกต์หลักธรรมที่ปรากฏในพราหมณสังยุตมาใช้ในสังคมไทยจากการศึกษาพบว่า

                  ด้านเนื้อหาของพราหมณสังยุตแบ่งเป็น ๒ วรรค คือ อรหันตวรรค ว่าด้วยเรื่องพราหมณ์ผู้ฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์และอุปาสกวรรค ว่าด้วยเรื่องพราหมณ์ผู้ฟังธรรมแล้วประกาศตนเป็นอุบาสก รวม ๒๒ สูตร เนื้อหาในแต่ละสูตรว่าด้วยเหตุการณ์ที่พราหมณ์เข้าไปสนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาคเจ้าและถามปัญหา แล้วพระองค์แสดงธรรมแก่พราหมณ์ด้วยพระองค์เอง พราหมณ์ถือตนว่าเป็นวรรณะสูงเป็นเจ้าพิธี  เกิดจากปากของพระพรหม  แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พราหมณ์เหล่านั้นก็ถือกำเนิดจากโยนีของนางพราหมณีเสมอวรรณะอื่น  พราหมณ์มีอิทธิพลต่อสังคมที่ปรากฏเด่นชัด คือ ด้านพิธีกรรม  เช่น พิธีลอยบาป พิธีบูชาไฟ       พิธีแรกนา 

                  หลักธรรมที่ปรากฏในพราหมณสังยุตมี  ๓ หมวด คือ  (๑) หลักธรรมสำหรับบรรพชิต  ว่าด้วยหลักการศึกษาของพระภิกษุสามเณรซึ่งเน้นที่หลักไตรสิกขา หลักการปฏิบัติตนตอนอยู่ป่า  หลักในการครองเพศสมณะ และหลักการปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนาอื่น (๒) หลักธรรมสำหรับฆราวาส ว่าด้วยหลักการปฏิบัติต่อคนในครอบครัว หลักการปฏิบัติในฐานะอุบาสกอุบาสิกา และ(๓) หลักธรรมสำคัญอื่น ๆ ว่าด้วยเรื่องหลักการปฏิบัติต่อคนในสังคมเดียวกัน 

                  หลักธรรมที่ปรากฏในพราหมณสังยุตสามารถประยุกต์มาใช้ในสังคมไทยได้ดังนี้  คือ

                  (๑) หลักธรรมสำหรับบรรพชิต  เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับหน้าที่ของนักบวช ได้แก่ หลักไตรสิกขา หลักการปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนาอื่น ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีที่บุคคลผู้มีความเห็นต่างกันพึงแสดงต่อกันด้วยหลักของการสงเคราะห์เอื้ออารีต่อกัน

                  (๒) หลักธรรมสำหรับฆราวาส เป็นหลักธรรมสำหรับสามีภรรยา ในครอบครัวที่มีพื้นฐานความเชื่อร่วมกัน ใช้หลักสมชีวิตธรรม ครอบครัวที่มีพื้นฐานความเชื่อต่างกัน ใช้หลักฆราวาสธรรม  คือ หลักธรรมสำหรับครองเรือน, หลักธรรมสำหรับบิดามารดา ใช้พรหมวิหารธรรม เป็นเครื่องช่วยเลี้ยงดูบุตรธิดา, หลักธรรมสำหรับบุตรธิดา ได้แก่ หลักคารวธรรม  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  และหลักกตัญญูกตเวที อันเป็นเครื่องหมายของคนดีที่บุคคลสรรเสริญ, หลักธรรมสำหรับอุบาสกอุบาสิกา ใช้หลักความเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว และเลือกทำบุญไม่ทำบุญด้วยจิตอันประกอบด้วยกิเลส

            (๓) หลักธรรมสำคัญอื่น ๆ  ที่ควรปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ให้ปฏิบัติต่อคนในสังคมอย่างไม่ถือชั้นวรรณะ หากเป็นผู้ปกครองก็ให้การปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครองด้วยสังคหวัตถุอันเป็นการให้ความสำคัญ ให้ความรัก ให้ความเมตตา การให้อภัยด้วยความจริงใจ เมื่อทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนก็ต้องคำนึงประโยชน์ส่วนรวม โดยยึดหลักธรรม  หากเป็นผู้ใต้ปกครองก็ต้องทำหน้าที่ของตน เคารพกฎหมาย ให้ความร่วมมือแก่ทางบ้านเมืองตามสมควร

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕