หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิภาสธรรมาธิมุต (อำพร ปริมุตฺโต)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๖ ครั้ง
การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวตามหลักธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิภาสธรรมาธิมุต (อำพร ปริมุตฺโต) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีสุทธิพงศ์
  ศ.ดร. กาญจนา เงารังษี
  ผศ.ดร.สุพรต บุญอ่อน
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

 บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ในการศึกษา  ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาบริบทของครอบครัวไทย ๒) เพื่อศึกษาปัญหาความขัดแย้งของครอบครัวในสังคมปัจจุบัน ๓) เพื่อศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของครอบครัวตามหลักธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และข้อมูลทุติยภูมิจากหนังสือเอกสารทางพระพุทธศาสนาเถรวาท บทความ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ผลการศึกษาวิจัยพบว่าครอบครัว หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความผูกพันและใช้ชีวิตร่วมกันทั้งโดยการสมรสและการสืบเชื้อสายโลหิต  ครอบครัวทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการอบรมและดูแลบุคคลในครอบครัว เป็นแกนกลางของระบบความสัมพันธ์ในสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิต ครอบครัวมีหลากหลายประเภท สำหรับสังคมไทยสามารถจัดได้ ๒ ประเภท คือ ครอบครัวเดี่ยว และครอบครอบขยายหรือครอบครัวใหญ่ ถ้าครอบครัวมีความมั่นคงก็สามารถพัฒนานำพาบุคคลไปสู่ ความเจริญงอกงามได้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าครอบครัวมีความขัดแย้งก็นำพาไปสู่ความเสื่อมของบุคคล ครอบครัว และสังคมได้

                      จากการศึกษาปัญหาความขัดแย้งของครอบครัวไทยพบว่า มีปัญหาที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ๑) ปัญหาความขัดแย้งขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาความแตกต่างด้านลักษณะนิสัย ทัศนคติ หรือบุคลิกภาพที่เป็นเชิงปัจเจกบุคคล หรือมาจากครอบครัวเดิม ๒) ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตของครอบครัว เช่น ปัญหาด้านการเงิน และปัญหาของบุคคลในครอบครัวที่ไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นปัญหาระดับกลาง ๓) ปัญหาความขัดแย้งในระดับรุนแรงของครอบครัว เช่น ปัญหาการหย่าร้าง การนอกใจการไปมีภรรยาหรือสามีใหม่ การทะเลาะเบาะแวงขั้นรุนแรง ที่นำไปสู่การทำร้ายซึ่งกันและกันหรือนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวจนไม่สามารถประคับประคองสภาพครอบครัวให้อยู่รอดมั่นคงได้

                ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น สามารถนำหลักพุทธธรรมมาแก้ไขได้ โดยจำแนกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้ ๑) ปัญหาของครอบครัวขั้นพื้นฐานสามารถแก้ไขได้ โดยนำหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามธรรมนองครองธรรม การมีสติสัมปชัญญะ การใช้หลักสมชีวิตา และการใช้หลักธรรมของคู่ชีวิต ๔ ประการ (๑) สมสัทธา มีศรัทธาเสมอกัน (๒) สมสีลา มีศีลเสมอกัน (๓) สมจาคา มีจาคะเสมอกัน (๔) สมปัญญา มีปัญญาเสมอกัน รวมทั้งหลักนำสังคหวัตถุธรรมมาใช้ในการดำรงชีวิต  ๒) ปัญหาของครอบครัวระดับกลาง สามารถแก้ไขได้โดยนำหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์และหลักอาทิโภคิยะ ๕ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาครอบครัว  และ ๓) ปัญหาของครอบครัวในระดับรุนแรง สามารถนำหลักฆราวาสธรรม และหลักทิศ ๖ มาประยุกต์ใช้ คือ หลักปฏิบัติของผู้เป็นสามี   ๕ ประการ หลักปฏิบัติของผู้เป็นภรรยามีอยู่ ๕ ประการ หลักปฏิบัติของบิดามารดาต่อบุตรธิดา ๕ ประการ หลักปฏิบัติของบุตรธิดาต่อบิดามารดา ๕ ประการในการพัฒนาความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว นอกจากนี้ ยังแก้ไขด้วยการปฏิบัติธรรมตามหลักพรหมวิหาร ๔ ประการ และหลักอัตตสัมมาปณิธิ คือ การตั้งตนไว้ชอบ ดำรงตนอยู่ในศีลในธรรมอันดีงามของสังคม

 

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕