การวิจัยเรื่อง "ศึกษาความสัมฤทธิผลในการเปิดรับข่าวสารด้านพุทธธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และสังคม ณ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร : ศึกษาเฉพาะกรณีของพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรมในระหว่างปี ๒๕๔๑ ถึง ๒๕๔๒ และผู้มาร่วมกิจกรรมในวันธรรมสวนะ (วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ) วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดราชการ พร้อมทั้งผู้ที่มาร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสัมฤทธิผลในการเปิดรับข่าวสารด้านธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมรวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเปิดรับข่าวสารด้านธรรมเพื่อการพัฒนาจิตใจ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงชุมชนให้ดีขึ้น และการนำข่าวสารด้านธรรมไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคมต่อไป วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ศึกษาเฉพาะกรณีพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรม จำนวน ๔๒๑ คน ผลการวิจัย ปรากฏดังนี้ ๑. คุณลักษณะทางประชากรได้แก่ เพศ อายุ มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการเปิดรับข่าวสารด้านธรรมทั่วไปพบว่า อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการเปิดรับข่าวสารด้านธรรมในการพัฒนาอยู่ในระดับต่ำ ส่วนทางด้านสถานภาพสมรสมีความสัมพันธ์กับความถี่ในการเปิดรับข่าวสารด้านธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง ๒. ด้านการสื่อสาร ได้แก่ ผู้ส่งสาร เนื้อหาข่าวสารด้านธรรม และช่องทางการสื่อสารมีความสัมพันธ์กับความถี่ในการเปิดรับข่าวสารด้านธรรมทั่วไปพบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ๓. ความถี่ในการรับข่าวสารด้านธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอยู่ในระดับต่ำ ๔. ความถี่ในการเปิดรับข่าวสารด้านธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาจิตใจกับการนำข่าวสารด้านธรรมไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาจิตใจ มีความสัมพันธ์กันอยู่ในระดับสูง สำหรับเรื่องปัญหาและอุปสรรค คือ การสื่อสารทางด้านธรรมของพระสงฆ์ยังเข้าไปไม่ถึงพุทธศาสนิชน เนื่องจากพระสงฆ์ขาดความเข้าใจในกระบวนการสื่อสาร ธรรมที่นำเสนอบางครั้งไม่เหมาะกับผู้ฟัง สื่อของพระสงฆ์ยังขาดความพร้อม อิทธิพลของสื่อในด้านอื่นมากกว่าธรรมะ จากปัญหาดังกล่าวนี้ พุทธศาสนิกชนให้ข้อเสนอแนะว่า ต้องการให้มีสถานที่ปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น พระสงฆ์ควรประยุกต์หลักธรรมให้ทันสมัยเป็นที่น่าสนใจของประชาชนทุกระดับชั้น และเพิ่มรายการธรรมะทางวิทยุและโทรทัศน์มากกว่าที่เป็นอยู่ แก้ไขภาพพจน์การเสนอข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ให้เหมาะสม และควรให้มีการเปิดโอกาสให้สาธุชนผู้มาปฏิบัติธรรมได้สอบถามข้อข้องใจหลังจากฟังธรรมและปฏิบัติธรรมเสร็จแล้ว ผลการวิจัยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการนำผลไปใช้ในการวางแผนกำหนดยุทธวิธีการสื่อสารด้านธรรม เพื่อความเจริญด้านธรรมแห่งพระพุทธศาสนาต่อไป