หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์พรเทพ ภวธมฺโม (โตแย้ม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๒ ครั้ง
บทบาทการทำขวัญนาคในการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนของนายชินกร ไกรลาศ (ชิน ฝ้ายเทศ)(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์พรเทพ ภวธมฺโม (โตแย้ม) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
  รศ.ดร. สมาน งามสนิท
  รศ. กิติมา สุรสนธิ
วันสำเร็จการศึกษา : ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

                 การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการทำขวัญนาคในการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนของชินกร ไกรลาศ รวมทั้งศึกษาถึงรูปแบบของการทำขวัญนาคและหลักธรรมที่ปรากฏในบททำขวัญนาคของชินกร ไกรลาศ การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตการณ์ (Observation) พิธีทำขวัญนาคของนายชินกร ไกรลาศ และจากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ๓ กลุ่ม ได้แก่ (ก) กลุ่มหมอทำขวัญนาค (ข) กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ (ค) กลุ่มผู้ฟัง

                 จากการศึกษาพบว่า ในฐานะผู้ส่งสาร (Source) การทำขวัญนาคของชินกร มีลักษณะการสื่อสารแบบเห็นหน้าค่าตา (face to face communication) โดยถ่ายทอดบททำขวัญนาคผ่านสื่อพื้นบ้าน (folk media) ด้วยวิธีการแหล่การร้องและการบรรยายสอดแทรกเชื่อมโยง ดังนั้นการทำขวัญนาคของชินกร ไกรลาศ จึงมีบทบาทในการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน ซึ่งสรุปได้ตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในด้านผู้ส่งสาร ได้แก่
           ๑) บทบาทในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรมการทำขวัญนาค
           ๒) บทบาทเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมที่ปรากฏอยู่ในการทำขวัญนาค
           ๓) บทบาทในการโน้มน้าวให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาคล้อยตามคติคำสอนในบททำขวัญนาคแล้วนำไปปฏิบัติตาม 
           ๔) บทบาทในการสร้างความพอใจหรือให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟังในขณะเข้าร่วมพิธี
สำหรับรูปแบบการทำขวัญนาคในการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนของชินกร ไกรลาศ
            ผู้วิจัยพบว่าเนื้อหาบททำขวัญนาคมีโครงสร้างแบ่งออกเป็น ๗ ภาค ได้แก่
         ๑) ภาคประณามพจน์
          ๒) ภาคกำเนิดนาค
          ๓) ภาคขนานนามนาค
          ๔) ภาคสอนนาค
          ๕) ภาคชมบายศรี
          ๖) ภาคอัญเชิญขวัญ
          ๗) ภาคเวียนเทียน
                นอกจากนี้ยังพบว่าการทำขวัญนาคของชินกร ไกรลาศ จะใช้วิธีการถ่ายทอดเนื้อหาบททำขวัญนาค ๒ รูปแบบ คือ
              ๑) โดยการแหล่การขับร้อง
               ๒) โดยการบรรยาย ทั้งนี้ในภาคกำเนิดนาคจะมีความยาวกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหมอขวัญจะให้ความสำคัญกับความเป็นบุพการีบุคคลของผู้เป็นแม่มากกว่าส่วนอื่น
ในด้านหลักธรรมที่ปรากฏอยู่ในบททำขวัญนาคเพื่อการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนของชินกร ไกรลาศ มีหลักธรรมปรากฏแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
                ส่วนที่ ๑ หลักธรรมที่ปรากฏในเนื้อหาบททำขวัญนาค ได้แก่ ๑) บุคคลหาได้ยาก ๒ ๒) พรหมวิหาร ๔ ๓) ทิศ ๖ ๔) รัตนะ ๓ ๕) คุณพระรัตนตรัย ๖) สวรรค์ ๖ ๗) กรรม ๒ ๘) กรรม ๓ ๙) มาร ๕ ๑๐) อปัณณกปฏิปทา ๓
              ส่วนที่ ๒ หลักธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมและเครื่องประกอบพิธีกรรมการทำขวัญนาค ได้แก่ ๑) วรรณะ ๔ ๒) สุจริต ๓ ๓) ศีล ๕ ๔) อริยทรัพย์ ๗ ๕) โลกุตรธรรม ๙ ๖) อกุศลมูล ๓ ๗) อวิชชา ๘) ห่วง ๓ ๙) ตัณหา ๓ ๑๐) ธรรม ๓ ๑๑) ปัญญา ๑๒) วิมุตติ ๑๓) ไตรสิกขาหรือสิกขา ๓ ๑๔) โพชฌงค์ ๗ ๑๕) ภพ ๓ ๑๖) อัคคิ ๓ ๑๗) วิสุทธิ ๑๘) วัฏฏะ ๓
                       ผลจากการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ การทำขวัญนาคในการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน ชินกร ไกรลาศ ได้นำภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้านมาผนวกกับศิลปะการแหล่ขับร้องบททำขวัญนาค ผสมผสานกับเทคนิค กลยุทธ์ที่หลากหลายอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงทำให้บททำขวัญนาคที่นำเสนอออกมานั้น มีเสียงที่ไพเราะ ฟังแล้วเกิดความซาบซึ้งใจ เกิดมโนภาพชัดเจน ทำให้ผู้ฟังโดยเฉพาะนาคได้รับความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมการทำขวัญนาค และเกิดความเข้าใจในเนื้อหาของบททำขวัญนาคที่มีหลักธรรมสอดแทรก ซึ่งหลักธรรมที่ปรากฏทั้ง ๒ ส่วน สามารถโน้มน้าว กล่อมเกลาจิตใจและเพิ่มพูนสติปัญญาของนาคผู้ที่จะบวช ให้รู้จักใช้ความคิดพิจารณาอย่างมีเหตุผล ตระหนักถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้มีพระคุณ เล็งเห็นถึงความสำคัญของพิธีและการเตรียมตัวที่จะอุปสมบท ส่วนผู้ฟังอื่น ๆ ที่เข้าร่วมพิธีโดยเฉพาะกลุ่มผู้ฟังที่พึงพอใจในเสียง (โฆสัปปมาณิกา) ก็จะเกิดความเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ เป็นการพัฒนาปัญญาและความคิด สามารถนำหลักธรรมพื้นฐานที่หมอขวัญได้บรรยายอธิบาย ไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดความสุขสงบในครอบครัวและสังคมเช่นเดียวกัน
 
 
                     Download :  255239.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕