หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาไพศาล วิสาโล (ดิษฐพันธ์)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
หลักพุทธธรรมในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง “คนจริงจอมกะล่อน คุนิมิตซึ”(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาไพศาล วิสาโล (ดิษฐพันธ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
  รองศาสตราจารย์กิติมา สุรสนธิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

             การวิจัยเรื่อง หลักพุทธธรรมในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง “คนจริงจอมกะล่อนคุนิมิตซึ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา แนวคิด ความเป็นมา บทบาทและความสำคัญของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น และเพื่อศึกษาเนื้อหา รูปภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อหลักพุทธธรรม ในการนำเสนอของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นการดำเนินการวิจัยเป็นรูปแบบการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ซึ่งกลุ่มประชากร คือ หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง “คนจริงจอมกะล่อน คุนิมิตซึ” เป็นกลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบเจาะจง เพื่อให้เนื้อหาเรียงติดกัน จำนวนที่ใช้ศึกษามี ๑๐ เล่ม ตั้งแต่เล่ม ๑ - ๑๐
จำนวน ๗๙ ตอน การเก็บข้อมูลเป็นแบบการนับจำนวนแล้วนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางสถิตินำมาเสนอด้วยค่าเฉลี่ยร้อยละ โดยการวิเคราะห์เชิงพรรณนาแจกแจงความถี่ร้อยละเป็นแบบตาราง และทำการเปรียบเทียบความมากน้อยของหลักพุทธธรรม คือ อริยสัจ ๔ ทั้งฝ่ายกุศลธรรมและฝ่ายอกุศลธรรม ผลของการวิจัยพบว่า หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมีการนำเสนอเนื้อหาและภาพ ซึ่งบ่งบอกหลักพุทธธรรมด้านโลกิยะ คือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ และมรรค โดยทุกข์และสมุทัยเป็นฝ่ายอกุศลธรรมมากกว่านิโรธและมรรคซึ่งเป็นฝ่ายกุศลธรรม และพบว่า สมุทัยที่เป็นฝ่ายอกุศลธรรมมีมากในเนื้อหาและภาพ ได้แก่ นิวรณ์ คือธรรมที่ปิดกั้นจิตไม่ให้บรรลุ
ความดี, มละ มลทินหรือความมัวหมอง และอุปกิเลส สภาพที่ทำให้จิตขุ่นมัวตามลำดับแต่พบว่า มรรค ซึ่งเป็นฝ่ายกุศลธรรมมีมากในเนื้อหาและภาพ คือ พละ ธรรมอันเป็นกำลัง,อิทธิบาท คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ และมิตรแท้ มิตรที่จริงใจ มีการนำเสนอ ภาพ สื่อถึงเรื่อง โทสะ ความร้ายกาจ, ความรุนแรง มากกว่าหลักพุทธธรรมอื่น ๆ ในสมุทัย เพราะสมุทัยเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อขาดสติและขาดความอดทนในกาควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ปัญหาจึงเกิดขึ้น การนำเสนอเนื้อหาเรื่องวิมังสา การพิจารณาไตร่ตรองเหตุผล มีมากกว่าหลักพุทธธรรมอื่น ๆ ในมรรค เพราะมรรคเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการพิจารณาเห็นสิ่งที่ไม่ดีและสิ่งที่ดีแล้วเลือกสรรสิ่งที่ดี มีประโยชน์จึงทำให้บุคคลและสังคมดีขึ้น การนำเสนอใน สมุทัย พบว่า การผูกโกรธ มีน้อยที่สุดเพราะว่าเมื่อบุคคลเกิดความไม่พอใจกันแล้ว ก็จะแสดงออกทางกายและวาจาทันที เพราะความขาดสติ แต่การนำเสนอในมรรค พบว่า มิตรรักใคร่หรือมิตรมีน้ำใจ เพราะมิตรที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ เมื่อถูกว่าร้าย จะมีน้อย มีแต่มิตรที่แนะนำประโยชน์ สาเหตุที่หนังสือการ์ตูนมีการนำเสนอทุกข์และสมุทัยที่เป็นฝ่ายอกุศลธรรมมากกว่านิโรธและมรรคที่เป็นกุศลธรรมนั้นเนื่องจากหนังสือการ์ตูน เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคมว่า มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายจากกิเลสตัณหาในตัวของบุคคล และสังคม จึงจำเป็นต้องถูกแก้ไขในทางที่ดีวิธีการหรือหนทางการแก้ไข ก็คือ การใช้หลักอริยสัจ ๔ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้สื่อให้เห็นว่า “มรรค” เป็นวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เสมอ และทำให้บุคคลระดับครอบครัว และสังคมดีขึ้นตามลำดับจากบทบาทของหนังสือการ์ตูนที่มีต่อการเผยแผ่พุทธธรรมดังกล่าว จึงเห็นว่า ควร
จะพัฒนาหนังสือการ์ตูนเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ระดับสังคมและระดับประเทศต่อไป

 

Download :  255043.pdf

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕