วิทยานิพนธ์นี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจะศึกษาขอบข่ายและความหมาย แรงจูงใจ ผลกระทบที่มีต่อสังคมไทย ตลอดจนพุทธวิธีการแก้ไขปัญหาตามหลักพุทธธรรม ผู้วิจัยได้สรุปการวิจัยออกเป็น ๔ ประเด็น ดังนี้ คือ ๑. ความหมายของสุราเมรัยและของเมา คือของเมาทุกชนิด หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หมายถึงสิ่งเสพย์ติดนั่นเอง ที่มีปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ๒. แรงจูงใจ ให้เกิดการเสพของเมาเกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ ก. องค์ประกอบภายใน คือตัวเราเองมีอำนาจกิเลส คือ โลภโกรธและหลง โดยมี ความพอใจชอบเป็นพื้นฐานมีอวิชชามูลเหตุแห่งปัญหาทั้งสิ้น อันเป็นปัจจัยภายใน ข. องค์ประกอบภายนอก คือสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ค่านิยมของสังคม สื่ออันเป็นสิ่งยั่วยวนหรือจูงใจให้อยากมีอยากเป็นเรียกว่าตัณหาเป็นปัจจัยภายนอก ๓. ปัญหาและผลกระทบที่มีต่อสังคมไทย ปัญหาที่มีผลกระทบมากที่สุดในปัจจุบัน ก็คือปัญหาเรื่องสิ่งเสพย์ติดในสังคมไทย พระพุทธศาสนาสอนว่าสุราเมรัยและของเมานั้นเป็นสิ่งต้องห้าม โดยเห็นโทษว่าสุราเมรัยและของเมาเป็นพิษร้ายแก่สังคมทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผลกระทบที่มีต่อสังคมไทย แบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น คือ ๑. ด้านตัวเอง ก.) สติปัญญาเสื่อมถอย ทำให้เสียสุขภาพกายและจิต เสียทรัพย์ เกิดโรคและเสียชื่อเสียงที่สำคัญที่สุดทำให้หมดความละอาย หมดความเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่วทั้งปวง ข.) ผู้เสพของเมาเป็นนิตย์ เมื่อตายไป ย่อมมีนรกภูมิ เปรตภูมิ และเดรัจฉานภูมิ เป็นที่หวังได้ โทษอย่างเบาที่สุด แม้เมื่อได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็กลายเป็นคนบ้า ๒. ด้านทางสังคม นั้นเกิดขึ้นเป็นผลกระทบทางสังคม คือ เป็นโลกวัชชะ ชาวโลกติเตียน เพราะผู้เสพของเมา ย่อมกระทำกรรมทุกอย่างได้โดยไม่รู้สึกตัว ๔. พุทธวิธีการแก้ไขปัญหาตามหลักพุทธธรรม คือแก้ไขปัญหาส่วนภายใน คือปรับที่โยนิโส-มนสิการ แก้ที่กิเลส ๓ กอง ความพอใจชอบใจเป็นพื้นฐานมีอวิชชามูลเหตุแห่งปัญหาทั้งสิ้นแล้ว สร้างภูมิคุ้นกันจิตด้วยอุบายสงบใจ และอุบายเรืองปัญญา แก้ที่สิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่แวดล้อมตัวเราอยู่ โดยมีเราเป็นศูนย์กลางมีกัลยาณมิตรเป็นเครื่องนำทางและเป็นเครื่องชี้หนทางสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ผลกระทบจากการล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๕ ที่มีต่อสังคมไทยปัจจุบัน จึงทำให้ทราบวัตถุประสงค์ศีลข้อนี้ว่า ความไม่ประมาท คือ การไม่อยู่ปราศจากสติ บรรดากุศลธรรมทั้งหลาย มีความไม่ประมาทเป็นมูล เรียกว่า เป็นยอดของกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนั้น ความไม่ประมาท จึงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีทางสังคมและเศรษฐกิจตามหลักพุทธธรรมที่ว่าละชั่วทางกาย วาจา และใจ ตลอดถึงละความเห็นผิดแล้วปฏิบัติดีทางกาย วาจา และใจตลอดถึงทำความเห็นให้ถูก เพราะบรรดาคุณความดีทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นเพราะมีความไม่ประมาทเป็นมูล