วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาความรู้ทั่วไปและพัฒนาการของ เพลงโคราช จริยธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในเพลงโคราช และผลของเพลงโคราชที่มีอิทธิพลต่อชาวอำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมาเพลงโคราชเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ได้ทำหน้าที่สะท้อนถึงสภาพของสังคมในระดับท้องถิ่นไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับความนิยมในหลายจังหวัด เช่นนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ยโสธร เพลงโคราช ก็ได้สะท้อนภาพทางประวัติศาสตร์ไว้ให้อนุชนได้รับรู้ โดยได้ถ่ายทอดหลักจริยธรรม ซึ่งเป็นประเพณีวิถีชีวิตแบบไทยๆ อย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีเสน่ห์ แม้ว่าเพลงโคราชจะมีเนื้อร้องค่อนข้างที่จะหยาบโลน สองแง่สองง่าม กล่าวถึงเรื่องเพศ และสัญลักษณ์ต่างๆ ในการขับร้องก็ตาม แต่มีหลายเพลงที่ส่งเสริมจริยธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น แนวคิดเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ชาตินี้ชาติหน้า การทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่ว ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว และยังมีลักษณะการปลูกฝังจริยธรรมระดับพื้นฐานทั่วๆ ไป อีกหลายอย่าง เช่น ให้อยู่ร่วมกันด้วยศีล ๕ ให้รู้จักความมีเมตตาธรรมรู้จักความกตัญญูรู้คุณท่านศาสนาที่ประเสริฐ หากปราศจากศิลปะก็ย่อมปราศจากความละเมียดละไม และเป็นการยากที่บุคคลจะเข้าถึงได้ ศิลปะถ้าไม่อาศัยศาสนาก็เสื่อมสลาย หยาบและไม่ประณีตดังจะเห็นได้ในนิทานธรรมบท ปรากฏในหลายเรื่องว่า การบรรลุธรรมของคนในยุคพุทธกาลก็อาศัยเพลงที่มีเนื้อหาสาระทางจริยธรรมนั้นเอง ที่คนอื่นขับร้อง ฉะนั้น ศิลปะทุกอย่างกับคำสอนทางศาสนาจึงมีหลักการคล้ายคลึงกัน คือ เป็นสิ่งเกี่ยวกับอารมณ์และความคิดเห็นคำนึงถึงคุณค่าในด้านจิตใจ นักประพันธ์จึงนิยมแต่งเพลงที่มีเนื้อหา เน้นจริยธรรมนอกเหนือจากสาระบันเทิงเนื้อหางานวิจัยในครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรม ที่ปรากฏในเพลงโคราช ที่มีอิทธิพลต่อชาวอำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา สรุปผลการวิจัย พบว่า แนวทางในการอนุรักษ์เพลงโคราช มีวิธีดังนี้ ในด้านประวัติเพลงโคราช รูปแบบกลอนเพลงโคราช รูปแบบของเพลงโคราชประเภทของเพลงโคราช การใช้ภาษาในเพลงโคราช และความไพเราะในเพลงโคราชวิวัฒนาการของการเล่นเพลงโคราช ในด้านพุทธจริยธรรมในเพลงโคราชนั้น พบว่า มี ๔ วิธีที่นิยมกัน ได้แก่โดยวิธียกอุทาหรณ์สอนใจผู้ฟัง โดยวิธียกนิทานหรือเล่าเรื่องมาประกอบ โดยวิธีใช้โวหารเปรียบเทียบ และโดยวิธีอ้างความเชื่อส่วนบุคคลในด้านแนวทางในการอนุรักษ์เพลงโคราช พบว่า มีดังต่อไปนี้ การฝึกซ้อมหรือพักอาศัยอยู่ที่บ้านของหมอเพลง เพื่อฝึกร้องเพลงโคราช สมัยก่อนเป็นฝึกซ้อมโดยวิธีมุขปาฐะ แต่ในปัจจุบันฝึกร้องกันเป็นคณะก็มี อนุรักษ์ในบางโอกาส เช่น งานบุญประเพณีต่างๆหรือในการเลือกตั้งทางการเมือง ระดับต่างๆ เป็นต้น อนุรักษ์โดยหน่วยงานของราชการบางหน่วย เช่น โรงเรียน มีการจัดประกวดร้องเพลงโคราช และการรณรงค์เพลงโคราชด้วยสื่อต่างๆ เช่น สื่อทางโทรทัศน์ท้องถิ่น วิทยุ
Download : 255118.pdf