หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประเสริฐ อลีโน ( ตุ้มทอง )
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
บทบาทและหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ในการนำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนา : ศึกษาเฉพาะกรณีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชนและกรุงเทพ ๒๕๔๙
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประเสริฐ อลีโน ( ตุ้มทอง ) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๓ / ตุลาคม /๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้ ได้ศึกษาถึงรูปแบบบทบาทหน้าที่และแนวทางที่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ของสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน ๓ ฉบับได้แก่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยที่ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการคือ


๑. เพื่อศึกษา รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนา ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
๒. เพื่อศึกษา บทบาท และหน้าที่ในการเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
๓. เพื่อทราบถึง ข้อคิดเห็นต่าง ๆ และแนวทางอันเหมาะสม เกี่ยวกับการเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ของหนังสือพิมพ์รายวันทั้ง ๓ ฉบับการศึกษาวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Research) เน้นการทำวิจัยในทางเอกสาร (Documentary Research) เป็นหลัก

                   ผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้พบว่า
๑. รูปแบบ ในการเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาของหนังสือพิมพ์ทั้ง ๓  ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่เป็นหนังสือพิมพ์ประชานิยมกับหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ จาก

                 ผลของการวิจัยปรากฏว่า
ประเภท หรือรูปแบบที่ได้นำเสนอ คือ รูปแบบข่าว รูปแบบบทความ รูปแบบสารคดีและรูปแบบโฆษณา ที่มีการนำเสนอเนื้อหาในทางพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ ประเภทหรือรูปแบบของ ข่าว ได้มีการนำเสนอในเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ รูปแบบของบทความ ในส่วนรูปแบบสารคดีและรูปแบบการโฆษณา มีการนำเสนอเรียงไปตามลำดับ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาในรูปแบบข่าวและการโฆษณา ในปริมาณมากที่สุดหนังสือพิมพ์มติชน ได้มีการนำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนา ในรูปแบบของบทความและสารคดีเชิงข่าวมากที่สุด ส่วนในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ มีการเสนอเนื้อหาน้อยที่สุด   อนึ่ง การนำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาทั้ง ๔ รูปแบบของหนังสือพิมพ์ทั้ง ๓ ฉบับนี้ มีความถี่ของการนำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนา ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ที่มีปริมาณที่ใกล้เคียงกันมาก


๒. บทบาท หน้าที่ในการเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์ ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน และกรุงเทพธุรกิจ พบว่า มีการทำบทบาทหน้าที่ในการเสนอเนื้อหาสาระมีอยู่ด้วยกัน ๔ หน้าที่ คือหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร หน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ หน้าที่ให้ความบันเทิง และหน้าที่ในการโฆษณา สำหรับการทำบทบาทหน้าที่นำเสนอเนื้อหา ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และเชิงไม่สร้างสรรค์นั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารและการโฆษณามากที่สุด หนังสือพิมพ์มติชน พบว่า ได้มีการทำหน้าที่การให้ข้อเสนอแนะ และบทความมากที่สุด หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้การทำหน้าที่นำเสนอเนื้อหาน้อยที่สุด

๓. แนวทางที่เหมาะสม ในการเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ของหนังสือพิมพ์ ผลการวิจัยพบว่า การนำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ มีข้อบกพร่องอยู่มาก มีความไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่ในการเสนอข่าว เพราะว่า มีการเสนอข่าวในเนื้อหาสาระเชิงไม่สร้างสรรค์ ในจำนวนปริมาณที่มากกว่าข่าวในเชิงสร้างสรรค์อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในบางครั้ง หนังสือพิมพ์นั้น ก็มีการเสนอเนื้อหาข่าวที่มีอคติต่อพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ พร้อมทั้งขาดการตรวจสอบเนื้อหาข้อมูล ให้ถูกต้องชัดเจน ตามข้อเท็จจริงก่อน ในการทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ข้อเสนอแนะ การวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ลงไป สื่อหนังสือพิมพ์ จะต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ควรมีจริยธรรมไว้เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการทำหน้าที่นำเสนอเนื้อทางพระพุทธศาสนา เช่น การใช้หลักของโยนิโสมนสิการ คือ
ความเป็นผู้ฉลาดในความคิด คือ คิดอย่างถูกวิธี ให้รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือคิดอยู่นั้นสมควรหรือไม่ จะต้องปรับปรุงแก้ไขการนำเสนอเนื้อหาในเชิงไม่สร้างสรรค์ลดให้น้อยลงระมัดระวังการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม สื่อความหมายไปในทางดูหมิ่นดูแคลน คำกำกวม คำส่อเสียด และคำไม่สุภาพอื่น ๆโดยเฉพาะภาษาที่ใช้ในการพาดหัวข่าว การวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง หรือตอกย้ำให้เกิดความแตกแยกทางความคิด หนังสือพิมพ์ต้องมีความเที่ยงธรรม ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง ควรนำเสนอเนื้อหาที่ถูกต้องชัดเจน ไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ประเด็นต่อมา แนวทางที่เหมาะสมในการนำเสนอ ต้องเพิ่มเนื้อหาข่าวเชิงสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เพราะเนื้อหาที่มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อนึ่ง ชาวพุทธทุกคน จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่หวังดีมาทำความเสื่อมเสียให้แก่พระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ และการนำเสนอข่าวในด้านลบของพระสงฆ์
ในหน้าหนังสือพิมพ์ ควรที่จะให้ลดลงบ้าง อนึ่ง การปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณในสาขาวิชาชีพและการปฏิบัติตนตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการทำบทบาทหน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์ได้เป็นอย่างดี

                 ผลการวิจัยครั้งนี้ น่าจะนำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อการปรับปรุงแก้ไข ในการ
นำเสนอเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาและข่าวสารเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ ของ
หนังสือพิมพ์ได้ เช่น การลดเนื้อหาเชิงไม่สร้างสรรค์ให้น้อยลง เพิ่มเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์
ให้มากยิ่งขึ้นและใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสม พัฒนาวิธีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้อง
นักหนังสือพิมพ์ ควรตั้งตนอยู่ในความเป็นกลาง ทั้งการเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดง
ความคิดเห็นอื่น ๆ อันจะก่อให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์

 

Download :  254973.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕