หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหากันต์ วฑฺฒนวํโส (มโนวัฒนันท์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๒ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องเกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมในจริยศาสตร์ ของค้านท์กับในพุทธจริยศาสตร์ตามทรรศนะของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๒๕๓๕)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหากันต์ วฑฺฒนวํโส (มโนวัฒนันท์) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมชัย กุสลจิตฺโต
  ผศ.ดร.อรรถจินดา ดีผดุง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๑ กันยายน ๒๕๓๕
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มุ่งจุดหมายเพื่อศึกษาในเชิงวิเคราะห์และเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องเกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมในจริยศาสตร์ของค้านท์และในพุทธจริยศาสตร์ตามทรรศนะของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

               ผลการวิจัยมีข้อสรุปที่สำคัญ คือ นักคิดทั้งสอง มีความเห็นที่ไม่แตกต่างกันในเรื่องของการใช้ปัญญาในแง่ที่ว่า การใช้ปัญญาที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการไตร่ตรองก่อนลงมือกระทำ ปัญญาจะช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจและแยกความแตกต่างระหว่างความดีและความชั่วได้ ในแง่ของความรับผิดชอบ นักคิดทั้งสองมีความเห็นร่วมกันโดยมีเงื่อนไขที่สำคัญว่า ไม่ควรใช้ผู้อื่นเป็นเพียงเครื่องมือในการกระทำเพื่อความสำเร็จตามที่ตนคาดหวังไว้ นอกจากนั้น ทรรศนะเรื่องความเป็นสากลในกฎศีลธรรมของค้านท์ ยังคล้ายคลึงกับทรรศนะ เรื่องกรรมนิยามของพระเทพเวทีด้วย

                ส่วนทรรศนะที่แตกต่างกันนั้น ค้านท์ได้เสนอความเห็นที่ว่า เจตนาดีคือการกระทำตามหน้าที่ และปฏิบัติตามหลักการสากล แต่พระเทพเวทีเน้นองค์ประกอบที่สำคัญของเจตนาดี คือ ความเป็นกุศลมูลของจิต สำหรับเรื่องเกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมในทรรศนะของค้านท์จะเน้นความเป็นกฎสากลที่แน่นอนตายตัวโดยไม่มีข้อยกเว้น ในขณะที่พระเทพเวทีเห็นว่าในระดับโลกียสัจจะนั้น เกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมไม่ควรใช้เกณฑ์หลักแต่เพียงอย่างเดียว ควรคำนึงเกณฑ์รองประกอบด้วย ในระดับโลกุตตระสัจจะแม้เกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมในพุทธจริยศาสตร์และจะตายตัวแน่นอน แต่เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากจริยศาสตร์ของค้านท์ นอกจากนี้ทั้ง ๒ ท่านยังมีทรรศนะที่ต่างกันในเรื่องแรงจูงใจในการกระทำ ค้านท์เห็นว่าการกระทำที่เกิดจากอารมณ์และความรู้สึก  ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่มีค่าทางจริยธรรม  แต่พระเทพเวทียอมรับการกระทำที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากกุศลมูลว่าเป็นการกระทำที่ดี

 

Download : 253501.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕