หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาศักดิ์พิชิต ฐานสิทฺโธ (ชัยดี)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
ศึกษาบทบาทการเผยแผ่พุทธธรรมของพระวิสุทธาธิบดี (วีระ ภทฺทจารี)(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาศักดิ์พิชิต ฐานสิทฺโธ (ชัยดี) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  รศ. บำรุง สุขพรรณ์
  รศ. กิติมา สุรสนธิ
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาบทบาทการเผยแผ่พุทธธรรม ของพระวิสุทธาธิบดี(วีระ ภทฺทจารี) ผู้เป็นพระสงฆ์ที่เพรียบพร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ เป็นผู้สังวรรักษาสมณวัตรเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีศีลาจารวัตรงดงาม มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส เป็นพระเถราจารย์ที่เป็นปูชนียบุคคล แห่งคณะสงฆ์และประชาชนชาวไทย ได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี แนะนำสั่งสอนให้ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรม ได้ประกอบกรณียกิจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่พุทธจักร และอาณาจักรอย่างไพศาล เป็นจริยาวัตรที่น่ายกย่อง เป็นกรณีตัวอย่างที่พระสงฆ์ หรือคฤหัสถ์ควรนำไปประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อสืบทอดพระธรรมวินัย หรือพระพุทธศาสนาให้มั่นคงยิ่ง ๆ สืบไป
จากการศึกษาวิจัยพบว่า การเผยแผ่พุทธธรรมของพระวิสุทธาธิบดี (วีระ ภทฺทจารี) ท่านได้เผยแผ่ผ่านบทบาทภาระงาน กิจการคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ประการ ได้แก่ บทบาทการปกครองบทบาทศาสนศึกษา บทบาทสาธารณูปการ บทบาทการศึกษาสงเคราะห์ บทบาทสาธารณสงเคราะห์บทบาทการเผยแผ่พุทธธรรม
นอกจากนี้ ท่านยังมีรูปแบบและแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรม ที่ดำเนินตามพุทธวิธีการสื่อสาร วิธีการเผยแผ่ของพระสาวก และมีการนำหลักการสื่อสาร ตามหลักนิเทศศาสตร์เข้ามาช่วยในการเผยแผ่พุทธธรรม เพื่อเป็นกลยุทธในการโน้วน้าวใจให้ผู้ฟังเกิดศรัทธา กล้าหาญ เลื่อมใส เร้าใจอยากฟังอยากประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเข้าถึงมหาชน หรือกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น รูปแบบการเผยแผ่พุทธธรรมของท่านแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. รูปแบบการใช้สื่อบุคคล ได้แก่ ตัวท่านอันเป็นสื่อบุคคลที่สำคัญ ในการทำให้ผู้อื่นได้รับสาร สาร คือ พระธรรมเทศนา การบรรยายธรรม การให้โอวาท และการกล่าวสัมโมทนียกถา ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีวิธีการนำเสนอ ๕ วิธี คือ (๑) นำเสนอโดยตรง (๒) นำเสนอโดยการเปรียบเทียบ อุปมา อุปมัย (๓) นำเสนอโดยการใช้ตัวอย่าง (๔) นำเสนอโดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ (๕) นำเสนอโดยวิธีการยกพุทธศาสนสุภาษิต คำคม โคลง คำกลอนประกอบ
๒. รูปแบบการใช้สื่อมวลชน ได้แก่ สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์
๓. รูปแบบการใช้สื่อเฉพาะกิจ ได้แก่ การสร้างวัตถุมงคล บทความ แถบบันทึกเสียงด้านแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรม ท่านมีแนวทางการเผยแผ่ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับการเผยแผ่ในเชิงรุก ได้แก่ โครงการเปิดพระอารามภาคกลางคืน โครงการเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ โครงการยกวัดไปไว้ในตลาด โครงการร่มโพธิ์ โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แบบบูรณาการ การท่องเที่ยวเชิงพุทธ การส่งเสริมบุคลากรในการเผยแผ่พุทธธรรมทางวิทยุโทรทัศน์วิทยุกระจายเสียง และการเผยแผ่ในต่างประเทศการเผยแผ่ในเชิงรับ ได้แก่ โครงการอบรมพระนวกะตลอดปี การจัดตั้งศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวัดสุทัศนเทพวรารามนอกจากนี้ท่านยังมีแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรมด้วยการใช้สำนวนภาษา สามารถแบ่งเป็น
๒ แนวทางด้วยกัน คือ
๑. การใช้ถ้อยคำ แบ่งได้ ๓ ลักษณะ ดังนี้ (๑) การใช้คำเข้าใจง่าย ๆ (๒) การใช้คำ
สัพยอก ซึ่งมีลักษณะเป็นการคุ้นเคยและสร้างความสนิทใจ การใช้คำภาษาบาลี ท่านจะแปล
ความหมายให้ด้วย (๓) การใช้คำ หรือใช้ภาษาร่วมสมัยในการสื่อสาร
๒. การใช้ภาพพจน์ แบ่งได้ ๒ ลักษณะ ดังนี้ (๑) การใช้ภาพพจน์อุปมา (๒) การใช้ภาพพจน์บุคลาธิษฐาน
การเผยแผ่พุทธธรรมของพระวิสุทธาธิบดี (วีระ ภทฺทจารี) จึงประสบผลสำเร็จอย่างสูงยิ่งเพราะความโดดเด่น ในด้านการประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยการชี้ให้ทำ นำให้ดูอยู่ให้เห็น ยิ่งกว่านั้นรูปแบบและแนวทางในการเผยแผ่พุทธธรรมของท่านก็มีความหลากหลายทันสมัย เข้ากับยุค เข้ากับเหตุการณ์ เป็นปัจจัยส่งเสริม สนับสนุนให้การเผยแผ่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถนำไปเป็นแบบอย่าง หรือประยุกต์ใช้ ในการเผยแผ่พุทธธรรมของนักเผยแผ่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อพระพุทธศาสนาสืบไป
Download :  254976.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕