หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายอธิเทพ ผาทา
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
การศึกษารูปแบบและกระบวนการแก้ปัญหาในพระพุทธศาสนา-เถรวาท : ศึกษาเฉพาะกรณีอธิกรณสมถะ ๗ และ กฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคมในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบบที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : นายอธิเทพ ผาทา ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
  นายสนิท ศรีสำแดง
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์นี้ประสงค์ที่จะศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยอธิกรณสมถวิธีในสมัยพุทธกาลกับกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบบที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ในเชิงการเปรียบเทียบ
เพื่อที่จะหาข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหาอธิกรณ์ทั้งใน สมัยพุทธกาลและในสมัยปัจจุบันว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และจะได้นำเอาผลการศึกษานั้นไปปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมสงฆ์ และพระพุทธศาสนาในประเทศไทยได้อย่างไรจากการศึกษาวิจัยมาทั้งหมด ผู้วิจัยได้พบข้อสรุปอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องรูปแบบและ กระบวนการแก้ไขปัญหาโดยอธิกรณสมถวิธีในสมัยพุทธกาล และแนวความคิดเรื่องรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยกฏนิคหกรรม ในพระราชบัญญัติคณะ
สงฆ์ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนี้
๑. อธิกรณสมถวิธี เป็นรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหาอธิกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหา พระธรรมวินัยใน ๒ เรื่องคือ เรื่องที่มีโทษและไม่มีโทษ เช่น ทั้งในด้านพิธีกรรมและการก่อความวุ่นวายภายในสังคมสงฆ์ ได้แก่ ปัญหา ๔ หมวด คือวิวาทาธิกรณ์อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์และกิจจาธิกรณ์ ส่วนกฏนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม เป็นรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหาพระธรรมวินัยที่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าไป ระงับหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องที่มีโทษใน ๒ หมวดคือ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์เท่านั้น
๒. อธิกรณสมถวิธี เป็นรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหาของพระธรรมวินัย ส่วนกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม เป็นรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการพิจารณาคดีของรัฐ ซึ่งเป็นวิธีการทางกฎหมายไม่ใช่วิธีการตามแนวทางของพระธรรมวินัย แต่ก็มุ่งที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาพระธรรมวินัยเช่นกัน
๓. อธิกรณสมถวิธี เป็นรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหา ที่ถือเอาพระธรรมวินัยเป็นกรอบในการดำเนินการสูงสุด ส่วนกฏนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม เป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาอธิกรณ์ ที่ยึดรูปแบบตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐภายใต้กฎหมายคณะสงฆ์คือ
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕.
๔. อธิกรณสมถวิธี เป็นรูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหา ที่มีผู้ดำนินการคือสงฆ์โดยมีพระวินัยธรเป็นประธาน ใช้อำนาจผ่านทางสังฆกรรมตามพระธรรมวินัย ส่วนกฏนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม เป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาอธิกรณ์ที่มีผู้ดำเนินการคือ ภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ ตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสถึงมหาเถรสมาคม โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็น
๒ ระดับคือ ระดับพระผู้พิจารณา และระดับคณะผู้พิจารณาซึ่งในระดับนี้ได้แบ่งการพิจารณาออกเป็น ๓ ชั้นคือ (๑) การพิจารณาชั้นต้น (๒) การพิจารณาชั้นอุทธรณ์ (๓) การพิจารณาชั้นฎีกา
๕. อุปสรรคและปัญหาของอธิกรณสมถวิธีคือ (๑) สงฆ์ผู้ดำเนินการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยเนื่องจากความไม่รู้ (๒) สังฆมณฑลไม่มีความเป็นเอกภาพเนื่องจากไม่เคารพในมติสงฆ์ (๓) ผู้ละเมิดพระธรรมวินัยไม่มีความละอาย โง่เขลาและฝืนมติไม่เคารพการตัดสินของพระวินัยธรและสงฆ์ (๔) สังฆมณฑลขาดผู้นำที่เข้มแข็ง ส่วนอุปสรรคและปัญหาของกฎนิคหกรรมคือ
(๑) บุคลากรผู้มีหน้าที่เป็นทั้งผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณาไม่มีความรู้ทาง กฏหมายและพระธรรมวินัยเพียงพอทำให้การดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของ กฏนิคหกรรม (๒) ปัญหาความใกล้ชิดระหว่างพระผู้พิจารณา/ คณะผู้พิจารณากับภิกษุผู้ตกเป็นจำเลย (๓) ปัญหาการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ เป็นต้น
๖. ในอนาคต ควรมีการประยุกต์รูปแบบและกระบวนการแก้ไขปัญหาคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับพระธรรม วินัยและเหมาะสมกับยุคสมัย ด้วยการจัดการศึกษาเพื่อให้คณะสงฆ์ทุกระดับมีความรู้เกี่ยวกับหลักพระธรรม วินัยและกฎหมายโดยเฉพาะวิธีการดำเนินการตามกระบวนการของ
พระราชบัญญัติและกฎนิคหกรรมรวมถึงกฏของมหาเถรสมาคมอื่นๆโดยการร่วมมือของ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านการปกครองคณะสงฆ์และรัฐบาลเพื่อให้คณะสงฆ์ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

 


Download :  255009.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕