วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพี่อศึกษาสภาพบริบททางสังคม พหุวัฒนธรรมของชุมชนวัดขันเงิน จ. ชุมพร ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีวิถีพหุวัฒนธรรมชุมชนสันติสุขตามหลักพุทธสันติวิธี ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์วิถีพหุวัฒนธรรมของชุมชนวัดขันเงิน จ. ชุมพร ตามหลักพุทธสันติวิธี เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพแบบภาคสนาม(Qualitative Field Research) ผลการวิจัย พบว่า
๑. สภาพบริบททางสังคมพหุวัฒนธรรมของชุมชนวัดขันเงิน จ. ชุมพร เดิมเป็นชุมชนทางการเกษตรและเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าขาย มีกลุ่มคนชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกับคนไทยท้องถิ่นเดิม จนเป็นแหล่งเศรษฐกิจ เป็นชุมชนที่นับถือระบบเครือญาติ เชื่อถือในบุญกุศล มีวัฒนธรรมเชื้อชาติที่หลากหลายและผสมผสานกัน ชุมชนมีความร่วมมือ สร้างความรักความเข้าใจระหว่างกัน มุ่งสร้างประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมการศึกษาให้เด็กและเยาวชนในชุมชน
๒. หลักพุทธสันติวิธีที่ส่งเสริมความพหุวัฒนธรรมชุมชนโดยไม่ใช้ความขัดแย้ง มีเมตตา ปราศจากอันตราย เป็นเอกภาพ ประสานกลมเกลียว มีเสรีภาพ และความยุติธรรม พึ่งตนเองได้ ให้โอกาสเท่าเทียม เกิดสวัสดิการสังคม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันบนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและเกื้อกูลกัน ด้วยกรอบแนวคิดหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ ๑) ทาน ให้เอื้อเฟื้อ เสียสละ แบ่งปัน ๒) ปิยวาจา พูดจาสุภาพ ไพเราะ ๓) อัตถจริยา การมุ่งทำประโยชน์สุขต่อกัน ๔) สมานัตตตา การปรับตัวเข้าหากัน ร่วมสุข ร่วมทุกข์
๓. ศึกษาวิเคราะห์วิถีพหุวัฒนธรรมของชุมชนวัดขันเงิน เป็นชุมชมเอื้ออารีด้วยวิถีแห่งการให้การเสียสละแบ่งปัน (ทาน) คือ การตระหนักในหน้าที่ ให้ความช่วยเหลือ การทำงานรับใช้คน การให้บริการ ให้ความช่วยเหลือด้วยใจ การสืบทอดรักษาวิถีชุมชนด้วยความรักและความเข้าใจ (ปิยวาจา) คือ ไม่ว่าร้าย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเคารพให้เกียรติ อย่าเอาเรื่องเชื้อชาติ ศาสนามากล่าวถึงทำนองล้อเล่น การสร้างสรรค์พัฒนาชุมชนเพื่อบำเพ็ญประโยชน์สุขร่วมกัน (อัตถจริยา) คือ การทำตนให้เป็นประโยชน์สุขต่อตนและคนอื่น การไม่นิ่งดูดาย มีน้ำใจไมตรีต่อกัน สร้างสิ่งที่ดีงามต่อเพื่อนมนุษย์ ร่วมกันรับผิดชอบ ร่วมกันพิจารณา การพึ่งพาอาศัยกัน การสืบสานสายสัมพันธ์วิถีแห่งความเป็นญาติมิตร (สมานัตตตา) คือ ความอดทน อดกลั้น ยอมรับผู้อื่น เห็นผู้อื่นเปรียบเสมือนญาติ มีกิจกรรมร่วมกัน อยู่อย่างสามัคคีและรักกันดุจพี่น้อง
Download |