วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพแบบภาคสนาม มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ
(๑) เพื่อศึกษาสภาพการเสริมสร้างชุมชนสันติสุขของชุมชนชาวไร่กาแฟดอยช้าง (๒) เพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างชุมชนสันติสุขตามหลักพุทธสันติวิธี (๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการเสริมสร้างชุมชนสันติสุขตามหลักพุทธสันติวิธีของชาวไร่กาแฟดอยช้าง ข้อมูลหลักที่ใช้ในการศึกษาคือพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถาและฎีกา ตามลำดับ ส่วนข้อมูลกรณีศึกษาชาวไร่กาแฟด้อยช้างได้จากหนังสือ เอกสาร และการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ชุมชนชาวไร่กาแฟดอยช้างเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ร่วมกันเป็นเครือญาติ มีประเพณี การดำเนินชีวิตอยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และการทำไร่กาแฟ เดิมทีชุมชนดอยช้างปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก ต่อมาในโครงการหลวงฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงนำต้นกาแฟไปมอบให้แก่คนในหมู่บ้านได้นำไปปลูก จึงทำให้กาแฟกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักและดอยช้างเป็นชุมชนที่ชำนาญการเพาะปลูกกาแฟคุณภาพดี รสชาติดี กลิ่นหอมเป็นที่นิยมทั่วโลก ชุมชนฯ ได้รวมตัวกันเสริมสร้างภูมิปัญญา พัฒนาก่อเกิดความเข้มแข็งของชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโต เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในการบริหารจัดการเพื่อการพึ่งพาดูแลตนเองได้
๒. แนวคิดชุมชนสันติสุขมีเงื่อนไข ๒ ประการ คือ ด้านกายภาพ และด้านความสัมพันธ์ระหว่างคน เป็นภาวะที่ไม่มีความขัดแย้ง มีเมตตา ปราศจากอันตราย เป็นเอกภาพ ประสานกลมเกลียว มีเสรีภาพ และความยุติธรรม พึ่งตนเองได้ ให้โอกาสเท่าเทียม การมุ่งสร้างสังคมสวัสดิการ มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันบนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและเกื้อกูลกัน ในทางพระพุทธศาสนาการสร้างชุมชนสันติสุขเกิดขึ้นได้ด้วยกรอบแนวคิดหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ ๑. ทาน ให้เอื้อเฟื้อ เสียสละ แบ่งปัน ๒. ปิยวาจา พูดจาสุภาพ ไพเราะ ๓. อัตถจริยา การมุ่งทำประโยชน์สุขต่อกัน ๔. สมานัตตตา
การปรับตัวเข้าหากัน ร่วมสุข ร่วมทุกข์
๓. แนวทางการดำเนินชีวิตของชุมชนชาวไร่กาแฟดอยช้างตามหลักพุทธสันติวิธี พบว่า มิติการให้ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างกาแฟดอยช้างให้มีคุณภาพ มีการแบ่งปันความรู้ ให้โอกาส
ให้กำลังใจ ให้ความยุติธรรมและความเสมอภาคในการซื้อขายเม็ดกาแฟ มิติการสื่อสาร ชุมชนฯ
มีลักษณะของการหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน ทำตามข้อตกลง พูดกันแบบตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวง ใช้สัจจะเป็นที่ตั้ง มิติการบำเพ็ญประโยชน์ มีคติที่ว่า ทุกคนมุ่งสร้างทำเพื่อส่วนร่วม ผลประโยชน์ทั้งหมดเป็นของพี่น้องบนดอย ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันด้วยการช่วยเหลือ ปรึกษาหารือกันและกันเป็นหลัก และมิติท่าทีการวางตน มีการพบปะพูดคุยแบบเป็นกันเอง ทำให้ผู้ใด้รับความช่วยเหลือหรือผู้มาเยือนมีความประทับใจ ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ท่าทีของความอบอุ่น เอื้อเฟื้อ กลายเป็นเอกลักษณ์ชุมชนสันติสุขที่เรียกว่า CHANAPA MODEL ประกอบด้วย C = Change การปรับตัว
H = Humanity มนุษยธรรม A = Attitude ทัศนคติ N = Nature ธรรมชาติ A = Accountability การรับผิดชอบ P = Peace สันติสุข A = Audittability ความสามารถตรวจสอบได้ ด้วยแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ชุมชนชาวไร่กาแฟดอยช้างได้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรื่องเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้
Download
|