การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี นโยบายและวิธีการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กเล็ก ๒) เพื่อวิเคราะห์สภาพการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ๓) เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยประกอบด้วยการวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ๑๐ รูป/คน และการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๑ รูป/คน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. แนวคิด ทฤษฎี นโยบายและวิธีการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กเล็ก ประกอบด้วย ๑) การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และให้มีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สถานศึกษาบริหารจัดการได้เอง ๒) การจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องยึดหลักการจัดการศึกษาตลอดชีวิตการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของสังคมและการพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องกับการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ๓) การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วน กระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา เพื่อพัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีคุณลักษณะ และสมรรถนะตามวัย ๔) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรฐานการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร ๑๑ ด้าน และ ๕) นโยบายการบริหารงานของผู้บริหารท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้กำหนดเป็นพันธกิจ ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งเสริมการจัดการศึกษา ด้านศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้านการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น แล ด้านส่งเสริมการกีฬานันทนาการ
๒. สภาพการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พบว่า ๑) การส่งเสริมการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในตำบล บุคลากรครูผู้ดูแลเด็กเล็กมีอัตราส่วนไม่เหมาะสมกับนักเรียน สถานที่เครื่องเล่นสนามไม่ได้มาตรฐานยังขาดห้องพยาบาล มุมพักผู้ปกครอง งบประมาณมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ และอาคารสถานที่ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กนักเรียนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ๒) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้มาตรฐานสากล มาตรฐานที่ใช้ในการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีทั้งหมด ๒๓ มาตรฐาน ๙๔ ตัวบ่งชี้ ซึ่งมีรายละเอียดมากทำให้การบริหารจัดการได้ไม่ทั่วถึงทุกตัวบ่งชี้ ๓) การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในตำบล แหล่งเรียนรู้ในตำบลมีน้อยไม่ค่อยน่าสนใจ และแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญบางแหล่งอยู่นอกพื้นที่ตำบลต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ๔) การทำนุบำรุงศาสนา อนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีปัญหาเพียงเล็กน้อย เพราะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนได้ตรงกับแผนและโครงการที่วางไว้ และ ๕) การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการ มีข้อจำกัดของกฎระเบียบที่ใช้ในการทำงานมากจึงไม่สามารถทำตามความต้องการของชุมชนได้ทุกอย่างและปัญหางบประมาณ
๓. แนวทางการส่งเสริมจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นการร่วมส่งเสริมสนับสนุนกับทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อเป็นการระดมความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และส่งเสริมความพร้อมของเด็กเล็กในการเข้ารับการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมความเข้มแข็ง ของครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย ๕ ประการ ได้แก่ ๑) วัตถุประสงค์ ๒) หลักการ ๓) ระบบการดำเนินการ ๔) การส่งเสริมจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๕) หลักพุทธธรรมที่ส่งเสริมการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ พรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ และสังคหวัตถุ ๔
Download |