การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาการจัดตั้งกองทุนการศึกษาสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการ ในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (๒) เพื่อเปรียบเทียบตามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดตั้งกองทุนการศึกษาสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการ ในอำเภอเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคล (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการจัดตั้งกองทุนการศึกษาสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการ ในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างจากนักเรียนโดยใช้สูตรทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๕๒ คน โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๙๕ % โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งปลายเปิด และปลายปิด วิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าความถี่ (Frequency), ค่าร้อยละ (Percentage), ค่าเฉลี่ย(Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-Test) กรณีตัวแปรต้นสองกลุ่ม และค่าเอฟ (F-Test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๗ รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา (Dfscriptive Statistics)
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดตั้งกองทุนการศึกษาสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๔ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการสนับสนุนทุนการศึกษา ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา และด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อ การจัดตั้งกองทุนการศึกษาสงเคราะห์ของพระสังฆาธิการในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า เพศ อายุ และการศึกษา ไม่ทำให้เห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นการปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓) ปัญหา และอุปสรรค พบว่า (๑) ด้านการสนับสนุนทุนการศึกษา การมอบทุนการศึกษายังไม่เพียงพอต่อนักเรียนผู้ยากไร้ ยังขาดการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างจริงจังงบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอ (๒) ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการศึกษายังไม่เพียงพอ การช่วยเหลืออุปกรณ์ที่ทันสมัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ไม่เพียงพอ (๓) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานศึกษา ยังขาดการส่งเสริมและพัฒนาสถานศึกษาในบริเวณใกล้วัด ขาดเครื่องมือการเรียนการสอนที่ทันสมัย ยังขาดงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ข้อเสนอแนะ ได้แก่ (๑) ด้านการสนับสนุนทุนการศึกษา ควรจัดหาทุนการศึกษาให้เพียงพอกับนักเรียนผู้ยากไร้ ควรมีการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างจริงจัง ควรจัดหางบประมาณให้เพียงพอ (๒) ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา ควรจัดหาการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการศึกษาให้เพียงพอ ควรจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยให้เพียงพอต่อความต้องการ ควรจัดหางบประมาณให้เพียงพอ (๓) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานศึกษา ควรให้การส่งเสริมและพัฒนาสถานศึกษาบริเวณใกล้วัดอยู่เสมอ ควรจัดหาเครื่องมือการเรียนการสอนที่ทันสมัยให้เพียงพอ ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณ
Download |